ตราด-คลองใหญ่ (อ.ส.ท. พฤษภาคม 2562)

ตราด-คลองใหญ่ (อ.ส.ท. พฤษภาคม 2562)

catagory icon image | 
ฐากูร โกมารกุล ณ นคร, 09 Jan 2020
ถูกใจ

          ขณะนั้นถนนสายหนึ่งทอดผ่านไปยาวไกล ลิบลับพ้นโค้ง และเราไม่เคยรู้เลยว่ามีอะไรรอคอยอยู่หลังโค้งข้างหน้า 

           มันเป็นการขับรถฝ่าทั้งฝนและแดดในหนทางระยะใกล้ เรารู้ปลายทางแน่ชัดตั้งแต่ออกมาจากจุดเริ่มต้น ปลายทางที่นำพาคนสองบุคลิกมาพบกัน รุ่นน้องนักถ่ายภาพผู้หลงรักโลกแลนด์สเคป รวมถึงชายหนุ่มอีกคนที่ไม่เคยค้นพบอะไรในภาพถ่าย 

           การเดินทางมักเป็นเช่นนี้ ทั้งดึงดูดและผลักพาให้อะไรหลายต่อหลายอย่างเข้ามาผสานรวมกัน อย่างที่หลายต่อหลายคนมักงุนงงเอากับความแตกต่างที่ต้องพยายามปะติดปะต่อมันเข้าจนเกิดเป็นภาพรวมบูด ๆ เบี้ยว ๆ 

           นาทีที่แดดร้อนกำลังละลายเมืองตราดไว้ยามต้นฤดูร้อน เราแอบรถไว้ริมถนนสุขุมวิทตรงพิกัดที่มันพาเรามาถึงแดนดินปลายทะเลตะวันออก อำเภอเมืองตราดยังคงคล้ายวันวานที่เคยพบ สำเนียงท้องถิ่นล่องลอย ในย่านเก่า ของกินต่าง ๆ เจือปนด้วยผลิตผลที่เป็นปลายทางของภูเขา สวนผลไม้ และท้องทะเล 

           ไม่มีใครเร่งร้อนจะไปให้ถึงปลายทาง เราต่างอยากทำความรู้จักเมืองเล็กแห่งนี้ให้มากขึ้นอีกนิด 

           ภาพถ่ายของรุ่นน้อง การก้าวเท้าไปตรงนั้นตรงนี้ของเรา หรือการขึ้น ๆ ลง ๆ รถคันเก่าเมื่อเห็นเหลี่ยมมุมงดงามกระทบใจอยู่ระเรื่อยรายทาง 

           มันแลดูสนุกสนานอยู่ไม่น้อย ชีวิตที่มีแต่วันนี้ นาทีนี้ ตราบที่เรายังเดินทางไปบนถนนสายเดียวกันอย่างรักษาระยะและเต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ

separate line
ตราด-คลองใหญ่ (อ.ส.ท. พฤษภาคม 2562)

ทางเดินริมคลองบางพระพาไปพบเส้นทางการคมนาคมโบราณของเมืองตราดที่นำพาความเจริญมาสู่คนที่นี่

          ตรอกเล็ก ๆ ริมคลองบางพระนั้นบ่งบอกกับผู้มาเยือนได้เสมอว่ามันเก่าแก่เละเต็มไปด้วยคืนวันของเมืองตราด 

           บ้านไม้ริมคลอง ห้องแถวคร่ำคร่าต่างยุคต่างสมัย สายคลองที่มีต้นจากและไม้ใหญ่ขึ้นสองฟากปกคลุมร่มเงา ย่านโบราณแห่งนี้เงียบสงบในยามบ่าย ตรอกซอยและถนนสายเล็กสองสามเส้นประกอบกันขึ้นเป็นย่านการค้าและที่อยู่อาศัยที่เต็มไปด้วยภาพอดีตงดงงาม 

           ย้อนกลับไปนับร้อยปี สินค้าจากเมืองไกลหลากหลายผ่านเข้ามาทำให้เมืองตราดคึกคัก ก่อเกิดเป็นย่ายตลาดสามสี่แห่งที่วางตัวอยู่บนถนนเล็ก ๆ กลางเมือง อย่างตลาดริมคลอง ตลาดใหญ่ ตลาดขวาง และตลาดท่าเรือ มันผ่านพ้นมาตั้งแต่ยุคเรือสำเภาที่นำพาพ่อค้าชาวจีน ชาวญวน หรือคนไทยจากหัวเมืองอื่น ๆ ให้มายึดโยงปักหลัก รวมไปถึงการเกิดขึ้นของถนนสุขุมวิทที่เปลี่ยนการขนส่งจากทางเรือไปสู่ทางรถ เมืองตราดเติบโตขึ้นตามวันเวลา 

           รุ่นน้องเลือกมุมภาพเป็นอาคารไม้บนถนนหลักเมือง ถนนสายเก่าเคียงข้างริมคลองบางพระที่เต็มไปด้วยห้องแถวไม้เหยียดยาว ปล่อยเขาไว้กับภาพตรงนั้น เราเดินลัดเล่นตามตรอกซอยที่เชื่อมมันเข้ากับริมคลองตรงตรอกยายอ่อน มันเป็นทางเดินแคบ ๆ ที่นำพาเราไปสู่ตลาดริมคลองและภาพจำในอดีต 

           ท่าน้ำที่ดิ่งตรงลงมาจากตรอกยายอ่อนคือท่าเสด็จที่รัชกาลที่ ๕ เคยเสด็จประพาสเมืองตราด พระองค์ทรงใช้ท่าน้ำเล็ก ๆ แห่งนั้นเพื่อเทียบเรือและเสด็จผ่านไปสู่สนามหลวง พื้นที่โบราณแถบในเมือง ครั้งเสด็จประพาสเมืองตราด กล่าวสำหรับเฉพาะในรัชสมัยของพระองค์ การเสด็จประพาสเมืองตราดถึง ๑๒ ครั้งนั้นยิ่งบ่งบอกถึงการเป็นเมืองสำคัญทางหัวเมืองฝั่งตะวันออกของแผ่นดินไทยมาเนิ่นนาน 

           ท่าเสด็จและทางเดินริมคลองบางพระเก็บงำภาพงดงามและเรื่องเล่าไว้ในความเงียบสงบ เราเลาะไปตามทางเดินเล็ก ๆ ที่ปรับแต่งภูมิทัศน์จนน่าเดิน สายคลองบางพระ ณ พิกัดตรงตลาดริมคลองนี่เองที่เป็นจุดพักสินค้าทางเรือมาแต่โบราณ ว่ากันว่า ของป่า สมุนไพร เดินทางจากภูเขาลงมาถึงที่นี่ ขณะที่สินค้าที่เดินทางมาถึงตราดด้วยเรือสำเภาอย่างเครื่องถ้วยชาม กระเบื้อง เสื้อผ้าแพรพรรณนั้น ก็มาถึงมือคนตราดได้โดยผ่านการค้าโบราณเช่นนั้น 

           ทางเดินเล็ก ๆ พาไปพบกับอดีตที่ผ่านพ้นและยังคงภาพงดงาม เรือนแถวไม้แบบจีนโชว์บานเฟี้ยมเหยียดยาว หลังคามุงกระเบื้องว่าวของเรือนบางหลังยังคงทนแดดฝน ภาพการค้าในอดีตหลงเหลืออยู่ในชีวิตเงียบ ๆ ของคนริมคลอง ร้านตีเหล็ก ร้านยาแผนโบราณ ร้านขนมปัง ขณะที่หลายหลังเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่ร้านกาแฟน่านั่ง เกสต์เฮาส์แสนสงบ รวมไปถึงการพัฒนาริมคลองบางพระไปสู่ถนนคนเดิน ภาพเขียนสตรีตอาร์ต ซึ่งเหล่าชาวบ้านในนามชมรมรักษ์คลองบางพระร่วมกันพัฒนาจนได้รับรางวัลชุมชนดีเด่นด้านการท่องเที่ยวในปี พ.ศ. ๒๕๕๐

ตราด-คลองใหญ่ (อ.ส.ท. พฤษภาคม 2562)

(1)งานกราฟิตีเล่าเรื่องเมืองเก่ามีให้เห็นในย่านเก่าริมคลองบางพระ 
(2)ท่าเสด็จ สถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ ครั้งรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสผ่านริมคลองบางพระเพื่อขึ้นฝั่งและเสด็จต่อไปยังสนามหลวง 
(3)ตู้ไปรษณีย์สะท้อนลูกเล่นและเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ในอดีต

ตราด-คลองใหญ่ (อ.ส.ท. พฤษภาคม 2562)

ตึกเก่าแถบถนนชัยมงคลงดงามด้วยความคลาสสิกในย่านการค้าโบราณของเมืองตราด 

separate line

       วกย้อนจากริมคลองขึ้นมาสู่ถนนสายเล็กอย่างธนเจริญ รุ่นน้องยังคงหลงรักกลุ่มอาคารเหยียดยาวแสนคลาสสิกตรงนั้น กลุ่มห้องแถวไม้และบ้านเรือนหลังใหญ่โตของเหล่าคหบดีผู้มีอันจะกินตกทอดเป็นเรือนไม้หลังสวย บางแห่งเปิดให้เห็นเฟอร์นิเจอร์โบราณหรือลวดลายประดับอาคารที่สลักเสลาอย่างฟู่ฟ่า หรือหลังที่ปรับเปลี่ยนเป็นที่พักอย่างริมคลอง บูติกโฮเทลก็แสนกลมกลืนกับบ้านเก่า แม้ผู้คนที่เข้ามาหามันส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว 

           เราหลงลืมว่าเดินห่างจุดจอดรถมายาวไกลเท่าไหร่แล้ว ทางเดินแถบย่านเก่าเมืองตราดน่าเพลิดเพลินอยู่ไม่น้อย อาคารทรงฝรั่งริมถนนหลักเมืองตอนปลายโดดเด่นด้วยรูปทรง มันฝังลึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ไว้ในนั้น โดยเฉพาะช่วงที่เมืองตราดตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสราวปี พ.ศ. ๒๔๔๗-๒๔๔๙ เรซิดังกัมปอร์ต (Residanggamport Residence) คือบ้านไม้ทรงยุโรปสีขาวที่กองทัพฝรั่งเศสเคยใช้เป็นที่พำนักข้าหลวงที่ดูแลปกครองเมืองตราด เรายืนมองเสาก่ออิฐถือปูนด้านหน้า รั้วสีขาวมิดชิดไม่อาจบดบังความสวยงามของอดีตที่ฉายชัดในแสงบ่าย 

 

ตราด-คลองใหญ่ (อ.ส.ท. พฤษภาคม 2562)
ตราด-คลองใหญ่ (อ.ส.ท. พฤษภาคม 2562)
ตราด-คลองใหญ่ (อ.ส.ท. พฤษภาคม 2562)
ตราด-คลองใหญ่ (อ.ส.ท. พฤษภาคม 2562)

โรงพิมพ์ระบบตัวเรียงพิมพ์ที่แสนคลาสสิกยังคงเที่ยวชมได้ในย่านเก่าริมคลองบางพระ

ตลาดซอยไร่รั้ง แหล่งของสดและอาหารพื้นบ้านกลางเมืองตราด มีขนมโบราณที่ขนมไทยป้าหนอมให้เลือกลองชิม

separate line

         สองเท้าย่ำต๊อกไปในถนนสายเดิม หักซ้ายจากธนเจริญ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตราด วางตัวเองอยู่ไม่ไกลกันนัก อาคารปั้นหยาหลังใหญ่งดงามด้วยไม้สักทองที่ถูกสร้างขึ้นแทนหลังเดิมที่ถูกไฟไหม้เสียหาย มันควรค่าแก่การเดินเข้าไปหามันยิ่งนัก เรื่องราวประวัติศาสตร์และชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่ประกอบสร้างขึ้นมาในเมืองริมทะเล เหตุการณ์ช่วง ร.ศ. ๑๑๒ หรือทุกมิติแห่งความเป็นอยู่ ตลาดเก่า ร้านรวง หย่อมย่านต่าง ๆ ที่โอบล้อมเราอยู่ด้านนอกล้วนถูกเล่าขานในรูปแบบพิพิธภัณฑ์อย่างสวยงามลงตัว 

           ไม่กี่ชั่วโมงกลางเมืองตราด คล้ายเราได้สัมผัสคืนวันของพวกเขาที่วิ่งเต้นหายใจมาเนิ่นนาน บนถนนชัยมงคลที่เคยเป็นย่านตลาดขวางรายล้อมด้วยห้องแถวโบราณที่ยังคงประกอบการค้า ร้านกาแฟน่านั่งเปิดขายเป็นขวัญใจคนเมือง มันนำพาเราออกไปสู่ตลาดใหญ่ที่ยังคงคึกคักและเป็นศูนย์รวมทางการค้าของทุกวันนี้ ทุกอย่างมารวมกันที่นี่ ซอยไร่รั้งคือตลาดเย็นที่เต็มไปด้วยอาหารท้องถิ่น สินค้าจากทะเลและเรือกสวน ร้านขนมไทยป้าหนอมเปลี่ยนผ่านสู่การไปขายบนรถ แต่ขนมโบราณอย่างขนมบันดุ๊ก-ชิ้นแป้งสีเขียวคล้ายขนมเปียกปูน ขนมถิ่นตราดที่พวกเขารับมาจากคนญวนยังคงเป็นของกินน่าลิ้มลองสำหรับคนต่างถิ่น ขนมชั้นครั่ง ข้าวเกรียบอ่อน ล้วนแล้วแต่ทำให้การเดินท่องตลาดนั้นเพลิดเพลิน 

          จากตลาดใหญ่นั้นหากเดินเชื่อมกับถนนท่าเรือจ้างจะไปสิ้นสุดที่ตลาดท่าเรือจ้าง ที่มีความเจริญเคียงคู่กัน ที่นั่นคือจุดลงเรือ ร้านรวงต่าง ๆ มักขายอุปกรณ์ประมง ความคึกคักแน่นหนามีที่มาจากการค้าขายในแม่น้ำตราดและผืนทะเลกว้าง 

ตราด-คลองใหญ่ (อ.ส.ท. พฤษภาคม 2562)
ตราด-คลองใหญ่ (อ.ส.ท. พฤษภาคม 2562)

(1)เรสิดังกัมปอต อาคารโคโลเนียลหลังสำคัญที่กองทัพฝรั่งเศสเคยใช้เป็นที่ว่าการครั้งปกครองเมืองตราด 
(2)พิพิธภัณฑสถานเมืองตราด เรือนไม้สักทองหลังใหญ่ ภายในจัดแสดงเรื่องราวเมืองตราดหลากหลายมิติ

ตราด-คลองใหญ่ (อ.ส.ท. พฤษภาคม 2562)

พิพิธภัณฑสถานเมืองตราด

 

            ฟ้าใกล้มืด เราเดินลัดจากริมคลองออกสู่ถนนสุขุมวิท ต่างคนต่างเข้าอกเข้าใจกันดีว่าในตลาดเก่าเมืองตราดมีแง่มุมให้สัมผัสหลากหลายแตกต่าง 

           เริ่มต้นยังเนิ่นนานถึงเพียงนี้ ระหว่างรอคอยให้ฟ้าวันพรุ่งมาถึง ถนนสุขุมวิทเงียบเชียบในค่ำคืน มันกลายเป็นส่วนหนึ่งที่เก็บงำคืนวันในย่านเก่าของเมืองตราดไว้เคียงคู่ผู้คนที่นี่ เป็นคืนวันที่ยึดโยงอดีตไว้เคียงขนานกับการเปลี่ยนแปลงอย่างงดงามและเป็นตัวของตัวเองอย่างถึงที่สุด

separate line

            ทิวเขาบรรทัดวางตัวเป็นปราการชายแดนไทย-กัมพูชาอยู่ฟากซ้ายมือ เราเลาะตามสุขุมวิทออกจากเมืองตราด รุ่นน้องคาดหวังแดดใสสดที่จะเปิดทะเลฟากขวาที่เลียบเลาะให้กระจ่าง เราต่างซึมซับบรรยากาศรายทางจากหน้าต่างกระจกรถ 

           เลาะออกมาไม่ไกล ราว ๒๐ กิโลเมตร สุขุมวิทตอนปลายต้อนรับเราด้วยบรรยากาศเมืองชายทะเล หาดทรายเวิ้งอ่าวเรียงราย บางส่วนเป็นพื้นที่เอกชนและรีสอร์ตประเภทดั้งเดิม 

           ที่ศูนย์ราชการุณย์สภากาชาดไทย เขาล้าน ภายในอาณาบริเวณอันไพศาลจากภูเขาจรดผืนทะเล เราตัดดิ่งลงสู่ความสงบเงียบ หาดราชการุณย์เผยวิวทะเลกว้าง ขอบน้ำจรดขอบฟ้า แมกไม้ใหญ่ริมหาดแผ่ร่มเงา ร้านรวงเล็ก ๆ มีนักท่องเที่ยวพอประมาณ วันธรรมดาเช่นนี้เต็มไปด้วยภาพผ่อนคลาย 

           จากราวปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ห้วงยามที่แผ่นดินเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาเต็มไปด้วยไฟสงครามภายในสมัยสงครามล้างเผ่าพันธุ์โดยเขมรแดง พื้นที่เขาล้านแห่งนี้เป็นแหล่งพักพิงผู้อพยพ ชาวบ้านที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ พี่น้องกัมพูชานับแสนต่างหนีภัยสงครามในประเทศเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ด้วยพระราชเสาวนีย์ของพระองค์ การก่อสร้างศูนย์ลี้ภัยที่เขาล้านได้ก่อเกิดขึ้นในนามพระมหากรุณาธิคุณ 

ค่ายพักพิง หน่วยพยาบาล โรงฝึกอบรม ถูกก่อสร้างขึ้นต่อมาเยียวยาในนามเพื่อนมนุษย์ ครั้งเมื่อสิ้นสุดสงคราม ที่นี่กลายเป็นทั้งพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับค่ายอพยพ สะท้อนถึงผลพวงของสงคราม ขณะภูมิทัศน์รอบด้านได้รับการปรับแต่งเป็นสวนพฤกษศาสตร์งดงาม เรือนพักริมทะเล 

           ถนนสุขุมวิทยังทอดเนื่องเลียบทะเล เราลัดเลาะเข้าเขตอำเภอคลองใหญ่ บรรยากาศเมืองไกลชายแดนรอคอยอยู่ข้างหน้า ขณะท้องทะเลก็เรียกร้องให้ลัดเลาะลงไปตามหาดทรายและเวิ้งอ่าวที่ทอดเนื่องเรียงราย 

ตราด-คลองใหญ่ (อ.ส.ท. พฤษภาคม 2562)

หาดไม้รูดซ่อนความสวยใสไว้ในความเงียบสงบท้ายหมู่บ้าน 

ตราด-คลองใหญ่ (อ.ส.ท. พฤษภาคม 2562)
ตราด-คลองใหญ่ (อ.ส.ท. พฤษภาคม 2562)

(1)บ้านไม้รูดคือหมู่บ้านชาวประมงที่ใหญ่โต นอกจากเที่ยวโฮมสเตย์ ที่นี่ยังมีอาหารทะเลสด ๆ ให้ลิ้มลอง 
(2)ด้านเหนือสุดปลายคลองไม้รูดช่วงที่เปิดสู่ผืนทะเลกว้างมีหาดเล็ก ๆ ซ่อนตัวสวยสงบ 

 

            ที่ราบแคบ ๆ ตรงนั้นมีสายคลองใหญ่เชื่อมหมู่บ้านประมงและผืนทะเลเข้าหากัน รุ่นน้องขาแลนด์สเคปลิงโลดเมื่อเราอยู่บนสะพาน มองบ้านไม้รูดวางตัวอยู่ตรงปากอ่าว เรือประมงแนบท่าซ้อนกันเป็นฉากเป็นชั้น สีสันสดใสตัดแดดสายราวภาพเขียนของโกแก็ง กลิ่นอายทะเลห่มคลุมทั้งชีวิตประมงชายฝั่งและหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ดำรงชีพด้วยสวนผลไม้และการออกเรือ 

           ทางเดินเล็ก ๆ พาเราเข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับบ้านไม้รูด ริมฝั่งคลองเต็มไปด้วยงานประมงในครัวเรือน แกะปู แกะกุ้ง คนพื้นถิ่นและแรงงานกัมพูชาใช้ชีวิตร่วมกันภายใต้ความสมบูรณ์ของทะเลและผืนป่า ที่ร้านก๋วยเตี๋ยวป้านาลุงปาน เราอิ่มหนำกับก๋วยเตี๋ยวกั้ง กะเพราหมึกใส่ไข่ปู หรือกั้งผัดฉ่าที่ลุงปานบอกว่าสูตรดั้งเดิมของคนตราดไม่ได้ใส่กระชาย มีเพียงพริกแห้ง หอมแดง กระเทียม “มันเป็นของติดเรือตอนออกประมงน่ะ” สองหนุ่มลิ้มชิมรสชาติความเป็นพื้นบ้านอย่างที่ลุงปานบอกอย่างเต็มรสเต็มชาติ 

           ถนนสายรองจากบ้านไม้รูดเหนี่ยวนำให้คนรักการขับรถริมทะเลพาตัวเองไปกับมัน เราแวะเข้าชมหาดไม้รูด ชายหาดแสนสงบตรงหน้าเรียงรายด้วยโขดหินและหาดทราย น้ำใสเสียจนอดรนทนไม่ไหวต้องลงไปสัมผัส น้องช่างภาพอยากกลับมาหามันอีกยามพลบค่ำ เขาว่ามันสวยงามเหลือเกิน เราจมอยู่ตรงนั้นเนิ่นนาน เดินไปดู “หาดทรายสองสี” รวมไปถึง “บ่อญวน” แหล่งน้ำจืดในโอบล้อมโขดหิน ทางเดินสงัดเงียบ นกทะเลสองสามชนิดร้องแว่วหวาน ขณะประมงหนุ่มนั่งรอเวลาออกไปกู้อวนปูที่เขาวางไว้นอกหาด 

           ลมพัดผ่านทิวสนและแนวป่าชายเลน ถนนสายชายหาดหักเลี้ยวไปมา ภาพตรงหน้าเมื่อเราหักหัวลงไปยังหาดบานชื่นดูผ่อนคลาย มันเป็นหาดชุมชนที่เต็มไปด้วยการจัดการที่เป็นระบบระเบียบ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ที่พักเล็ก ๆ ทั้งหมดวางตัวเคียงข้างหาดแสนสะอาด ใครต่อใครคงหลงรักที่นี่ ที่ที่ทะเลเต็มไปด้วยภาพผ่อนคลาย ไม่มีเส้นกั้นบังสายตา ภาพวุ่นวายขวักไขว่คล้ายถูกทิ้งไว้หลังฝั่งถนน 

           ลมบ่ายโชยเอื่อย แดดจัดสลับร่มครึ้ม ทะเลเปลี่ยนสีไปตามอุณหภูมิแดด ขณะโลกตรงหน้าคล้ายกาลเวลาเคลื่อนช้า เต็มไปด้วยความผ่อนคลาย 

           หน้าตาของความสุขสงบที่ใครหลายคนดิ้นรนค้นหาอาจเป็นเช่นนี้

separate line

          เมืองเล็ก ๆ แห่งนั้นวางตัวอยู่ริมสายคลองใหญ่โต เรือนแถวไม้ในตลาด ถนนสอบแคบและอัดแน่นอยู่ด้วยรูปแบบชีวิตอีกแบบ ชีวิตที่เติบโตมาด้วยผืนทะเล 

           เรามาถึงที่นี่เอาเมื่อคืน อำเภอคลองใหญ่เงียบงัน ของกินหาได้แถบร้านรวงง่าย ๆ ตรงโต้รุ่งเล็ก ๆ ที่เมื่อยามเช้ามาเยือน มันกลับกลายเป็นตลาดแห่งเดียวที่รวมเอาอาหารสด อาหารพื้นบ้าน และความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ให้คึกคัก 

           ปลาทะเลหน้าตาประหลาดหลายชนิด ขนมพื้นบ้าน สำเนียงคนตราดแว่วหวาน เรือนแถวไม้ไร้รูปรอยของการปรับเปลี่ยนเป็นเมืองท่องเที่ยว มีแต่ชีวิตจริงที่ดำเนินไปอย่างมีเสน่ห์ แยกย้ายกันเดินเล่นกับรุ่นน้อง วางจุดนัดพบไว้สักแห่ง เราต่างพบแง่มุมของตัวเองท่ามกลางความเป็นอยู่จริงแท้ของคนคลองใหญ่ 

           คลองใหญ่ทอดยาวออกไปจดทะเลกว้าง ทางเดินหลังย่านตลาดพาเราเลาะออกไป ร้านข้าวเกรียบอ่อนน้ำกุ้งที่เป็นเจ้าประจำมีคนมาซื้อไม่ขาดสาย แผ่นแป้งข้าวเจ้านึ่งนุ่ม ๆ ราดด้วยน้ำจิ้มอมเปรี้ยวอมหวาน จากกุ้งแห้ง กระเทียม น้ำปลา น้ำตาล อร่อยแปลก ๆ อย่างน่าหลงใหล 

           คนคลองใหญ่เติบโตมาด้วยการประมงเป็นสิ่งแรก จากนั้นเรื่องการค้าชายแดนน่าจะพัฒนาตามมาหลังจากที่ราชอาณาจักรกัมพูชาผ่านพ้นเสียงปืนและการสู้รบภายใน ทุกวันนี้คลองใหญ่เต็มไปด้วยรถและพ่อค้าต่างถิ่น รวมไปถึงท่าเรือน้ำลึกที่นำพาเรือขนส่งสินค้าจากนานาทวีปเข้ามาถึงได้ไม่ยาก

ตราด-คลองใหญ่ (อ.ส.ท. พฤษภาคม 2562)

หาดราชการุณย์ ภายในพื้นที่เขาล้าน แหล่งพักผ่อนริมสุขุมวิทของคนอำเภอคลองใหญ่ 

separate line

          จากตัวอำเภอคลองใหญ่ สิบกว่ากิโลเมตรท้าย  ๆ ปลายสุขุมวิท เราพบว่ามันงดงามตรึงตรา 

           ลัดเลาะตามลาดเนินของแผ่นดินคลองใหญ่ไปตามถนนสายสวยกว้างขวางที่เรียกกันว่าถนนสู่เออีซี หลายหมู่บ้านคือโลกแห่งชาวประมงคล้ายคลึงกันอยู่ฟากขวา นักปั่นทัวริงสองสามกลุ่มแวะพักตรงจุดที่แคบที่สุดของประเทศไทย พวกเขาน่าจะบอกถึงทางที่ผ่านมาของกันและกัน คู่หนึ่งจากฝั่งเรา และอีกคู่ที่เพิ่งผ่านพ้นมาจากแผ่นดินกัมพูชา 

           ภูมิทัศน์ริมทางของสุขุมวิทถูกปรับแต่งเป็นจุดชมวิวง่าย ๆ ไต่ตามแนวบันไดกว้างขวางขึ้นไปจนใกล้ชิดแนวเขาและสันปันน้ำ มองกลับลงมา แผ่นดินระหว่างทิวเขาบรรทัดและทะเลกว้างมีระยะหดสั้นเหลือเพียง ๔๕๐ เมตร มันเปิดให้เห็นทั้งสัณฐานของแผ่นดินรวมไปถึงการอยู่กินของหมู่บ้านประมงเล็ก ๆ ริมทะเลที่มีชีวิตแทบไม่ต่างกันตลอดเส้นทางที่เราลัดเลาะผ่านมา 

ตราด-คลองใหญ่ (อ.ส.ท. พฤษภาคม 2562)

บนยอดเขาเหนือจุดชมวิวเขาท่านก๋งมองเห็นอำเภอคลองใหญ่วางตัวริมทะเลตราด

            คล้ายคลึงกันที่เราลงไปนั่งอยู่ในบ้านหาดศาลเจ้า พี่น้องชาวประมงเพิ่งกลับจากทะเลมาเมื่อสาย หมู่บ้านเล็ก ๆ ซุกซ่อนภาพเรียบง่ายไว้ริมทะเล พวกเขาค่อยแกะปูม้าออกจากอวน น้ำใจไมตรีอันล้นเหลือทำให้รุ่นน้องมีโอกาสลิ้มชิมปูต้มกันสด ๆ คุณป้าเจ้าของแพตำ “พริกเกลือ” หรือน้ำจิ้มซีฟู้ดรสจัดจ้านให้เรากินเคียงปูม้าหวานสด มองออกไปไล่ตามโค้งอ่าว เรือต่างขนาดจอดเรียงราย ชีวิตและการทำมาหากินหลอมรวมอยู่ริมทะเลกว้าง ในบ้านคือโอ่งกะปิที่พวกเขาทำเสร็จและเตรียมไปขาย ช่วงนี้หมดหน้าหากุ้งเคย แผงตากกะปิของคนที่นี่และอีกหลายบ้านในตำบลหาดเล็กเฝ้ารอการมาถึงของการทำผลิตภัณฑ์จากท้องทะเลอย่างใจจดใจจ่อ 

           บรรยากาศของขอบเขตชายแดนใกล้เข้ามา เราไปถึงด่านชายแดนบ้านหาดเล็กกันอีกเพียงไม่กี่อึดใจ รถราขวักไขว่พอประมาณ สองฟากด้านเรียงรายอยู่ด้วยร้านค้าสินค้าเครื่องใช้ต่าง ๆ นานา ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลถนอมจากฝั่งจังหวัดเกาะกง ราชอาณาจักรกัมพูชา นั้นแสนขึ้นชื่อเรื่องขนาดและความสด หมึก กุ้งแห้ง ปลาแห้งจากโตนเลสาบ แม่ค้าชาวเขมรทักทายด้วยภาษาไทยคล่องแคล่ว มันเป็นจริงอย่างที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าคนเขมรนิยมใส่เครื่องประดับ ร้านรวงขายสร้อย แหวน นาฬิกา ทั้งเทียมและแท้ปะปนกันไปกับสินค้าอุปโภคจากจีนและไทย

ตราด-คลองใหญ่ (อ.ส.ท. พฤษภาคม 2562)
ตราด-คลองใหญ่ (อ.ส.ท. พฤษภาคม 2562)

(1)ตลาดชายแดนบ้านหาดเล็กก่อนเข้าสู่จังหวัดเกาะกงของกัมพูชาตกทอดเป็นตลาดชายแดนที่ขายสินค้าหลากหลายอย่างอาหารทะเลแปรรูปหรือสินค้าอุปโภคบริโภคนานา 
(2)วิถีประมงของคนบ้านหาดศาลเจ้าหลังเก็บลอบปูจากทะเลหน้าบ้าน

ตราด-คลองใหญ่ (อ.ส.ท. พฤษภาคม 2562)
ตราด-คลองใหญ่ (อ.ส.ท. พฤษภาคม 2562)

(1)ถนนสุขุมวิทช่วงที่เรียกกันว่าถนนสู่เออีซี สวยงาม เรียบกริบ นักปั่นทัวริงรอบโลกเลือกผ่านแดนไปสู่กัมพูชา 
(2)จุดแคบที่สุดจากทิวเขาบรรทัดถึงทะเลตราดที่อำเภอคลองใหญ่ ราว ๔๕๐ เมตร 

separate line

            ชีวิตที่พอลืมตาอ้าปากส่งผลออกมาสู่การค้าชายแดนที่เติบโตขึ้นในนามของการเปลี่ยนแปลง แรงงานจากพี่น้องเขมรหลากไหลและเวียนวนอยู่ตรงชายแดนหลากหลายรูปแบบ ทั้งรับจ้างขนของด้วยรถเข็นคันโต พ่อค้าแม่ค้าในตลาด หรือพัฒนาไปกว่านั้นก็คือไกด์ท่องเที่ยวที่มารับลูกทัวร์ถึงด่านชายแดนหาดเล็ก-เกาะกง 

           ถนนสุขุมวิทสิ้นสุดลงตรงบ้านหาดเล็ก จะว่าไปก็เพียงราว ๑๒๐ กิโลเมตรเท่านั้น ที่มันนำพาเราจากอำเภอเมืองตราดมาสู่ขอบเขตชายแดน รายทางที่ผ่านพ้นเต็มไปด้วยความหมายหลากหลายสองฟากถนน ทั้งทะเลงามกว้างไกล ภูเขาทึบทะมึนที่วางตัวกางกั้นเป็นพรมแดนแผ่นดิน รวมไปถึงแววตาอันหลากหลายของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่รายทาง 

           นาทีที่หันหลังให้ชายแดน ย้อนทวนไปสู่ที่ทางตั้งต้นที่ดั้นด้นจากมา คล้ายภาพหลากหลายที่ผ่านมาได้ทวนย้อนหมุนกลับ ซ้ายเป็นขวา ขวาเป็นซ้าย ทว่าตัวตนและความหมายของมันยังคงดิมไม่แปรเปลี่ยน 

         ความหมายที่บ่งบอกอยู่เสมอว่า ชีวิตและหนทางแต่ละถิ่นที่อาจแปลกแยกแตกต่างนั้นล้วนซุกซ่อนความเป็นตัวของตัวเองอยู่อย่างจริงแท้ แม้ว่าหนทางที่มาสู่มันจะเปลี่ยนผันไปมากน้อยสักเท่าไร 

ตราด-คลองใหญ่ (อ.ส.ท. พฤษภาคม 2562)

ยามเย็นที่หาดไม้รูดสวยงดงามด้วยแสงสุดท้ายสะท้อนริ้วทรายและผืนน้ำ เป็นมุมสงบยามขับรถเที่ยวตราด 

separate line

คู่มือนักเดินทาง 
           จากอำเภอเมืองตราด สามารถขับรถท่องเที่ยวระยะสั้นตามเส้นทางตราด-คลองใหญ่ได้อย่างรื่นรมย์ หลากหลายด้วยแหล่งท่องเที่ยว และใช้เวลาไม่มากนัก 
           เดินเล่นแถบย่านเก่าริมคลองบางพระ ดูย่านการค้าเก่า ลิ้มลองอาหารพื้นถิ่น จากนั้นขับรถออกจากตราดด้วยทางหลวงหมายเลข ๓ (สุขุมวิท) ผ่านศูนย์ราชการุณย์ เขาล้าน เที่ยวหาดราชการุรณย์ ชมพิพิธภัณฑ์เล่าเรื่องสงครามของกัมพูชา เลาะไปเที่ยวบ้านไม้รูด หาดไม้รูด หาดบานชื่น แวะพักค้างในอำเภอคลองใหญ่ รุ่งขึ้นเช้าไปเที่ยวตลาดชายแดนบ้านหาดเล็ก ระหว่างทางผ่านจุดชมวิวสวย ๆ จุดที่แคบที่สุดแห่งประเทศไทย เดินเลือกซื้อสินค้าของกินของใช้นานาที่ชายแดน ก่อนกลับเข้าเมืองตราด รวมระยะทางราว ๑๒ กิโลเมตร 

ที่กิน 
           ร้านก๋วยเตี๋ยวปูสุขุมวิท (ป้าศรี) ชิมก๋วยเตี๋ยวปู ก๋วยเตี๋ยวกั้ง ข้าวพริกเกลือ ผัดพริกไทยอ่อน โทรศัพท์ ๐ ๓๙๕๑ ๑๙๗๒ 
           ร้านก๋วยเตี๋ยวกั้งป้านาลุงปาน บ้านไม้รูด ก๋วยเตี๋ยวกั้ง กั้งผัดฉ่า อาหารตามสั่งสไตล์พื้นบ้าน โทรศัพท์ ๐๘ ๑๗๙๑ ๒๗๓๓ 
           ร้านโฟล์คเวย์ คลองใหญ่ คาเฟ่ แอนด์ บิสโทร อาหารทะเล อาหารพื้นบ้าน รวมถึงอาหารตะวันตก ภายนบรรยากาศสมัยใหม่ สวยงาม ห้ามพลาดต้มซาลอมาจูปลากะพง แกงสับปะรดปู หมูต้มใบชะมวง โทรศัพท์ ๐๖ ๔๑๔๖ ๑๔๙๖ 

ที่พัก 
           ริมคลอง บูติก โฮเต็ล ที่พักสวยเก๋กลางย่านเก่าริมคลองบางพระ โทรศัพท์ ๐๓๙๕๒ ๓๓๘๘ และ ๐๘ ๑๘๖๑ ๗๑๘๑ เฟซบุ๊ก : ริมคลองบูติกโอเต็ล ที่พักสวยขนาดเล็ดในเมืองตราด 
           บ้านริมน้ำรีสอร์ท บ้านพักริมคลองบางพระ สวย อบอุ่น เงียบสงบ โทรศัพท์ ๐ ๓๙๕๒ ๔๔๙๔ เฟซบุ๊ก : บ้านริมน้ำรีสอร์ท ตราด BaanrimnamResort TRAT 
           โรงแรมคลองใหญ่ เซ็นเตอร์ ที่พักโมเดิร์น เปิดใหม่ สะอาด สบาย สะดวก โทรศัพท์ ๐๘ ๑๕๘๑ ๐๕๐๕ เฟซบุ๊ก : Klongyai Center9ikf

separate line
0.00

  • 5
    0%
  • 4
    0%
  • 3
    0%
  • 2
    0%
  • 1
    0%