รายละเอียด
1.วัดภูมินทร์
เป็นวัดหลวง ตั้งอยู่ใกล้กับวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ถนนผากลอง ตำบลในเวียง ตามพงศาวดารเมืองน่าน พระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์เจ้าผู้ครองนครน่านได้สร้างวัดภูมินทร์ขึ้นหลังจากที่ครองนครน่านได้ 6 ปี เมื่อ พ.ศ. 2139 มีปรากฏในคัมภีร์เมืองเหนือว่าเดิมชื่อ วัดพรหมมินทร์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย 4 องค์ หันหน้าออกสู่ประตูทั้ง 4 ทิศ วัดภูมินทร์ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2410 โดยพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช ใช้เวลานานถึง 7 ปี จุดเด่นของวัด คือ สร้างเป็นทรงจตุรมุขหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาค 2 ตัว ตัวอาคารนี้เป็นทั้งพระอุโบสถ พระวิหาร และพระเจดีย์ประธาน โดยใช้อาคารในแนวตะวันออก-ตะวันตกเป็นพระวิหาร และอาคารแนวเหนือ-ใต้ เป็นพระอุโบสถภายในพระอุโบสถมีภาพจิตกรรมฝาผนัง สันนิษฐานว่า วาดขึ้นในสมัยที่มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่
2.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน
สร้างเมื่อ พ.ศ.2475 เป็นอาคารแบบยุโรปซึ่งเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองน่าน เดิมเป็น หอคำ ซึ่งเป็นที่ประทับและที่ว่าราชการของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน รวมทั้งใช้เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดน่านแห่งแรกอีกด้วย ในปี พ.ศ.2517 อาคารแห่งนี้ได้รับการปรับปรุงให้เป็นสถานที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ลักษณะการจัดพิพิธภัณฑ์ใช้แสงธรรมชาติเข้าช่วย ตัวอาคารโปร่งมีหน้าต่างโดยรอบ ผู้มาเที่ยวจะรู้สึกเหมือนเดินอยู่ในบ้านมากกว่าพิพิธภัณฑ์ ภายในอาคารแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นล่าง จัดแสดงเกี่ยวกับภาควิชาชาติพันธุ์วิทยา แสดงชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าต่าง ๆ ในจังหวัดน่าน รวมทั้งเทศกาลงานประเพณีที่สำคัญ เช่น การสืบชะตา และการแข่งเรือ ชั้นบน จัดแสดงโบราณวัตถุสมัยต่าง ๆ ที่พบในจังหวัดน่าน ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคเจ้าผู้ครองนครน่าน ชิ้นที่สำคัญ ได้แก่ งาช้างดำ วัตถุมงคลคู่บ้านคู่เมืองน่าน เป็นงาช้างข้างซ้ายปลียาว 94 เซนติเมตร วัดโดยรอบส่วนที่ใหญ่สุดได้ 47 เซนติเมตร น้ำหนัก 18 กิโลกรัม ได้มาในสมัยพระยาการเมืองเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 5 เครื่องปั้นดินเผาเคลือบ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 จากเตาเผาบ่อสวก ตำบลสวก อำเภอเมืองน่าน พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 25 พานพระศรีเครื่องเงินลงยา ซึ่งเป็นเครื่องประกอบอิสริยยศของเจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย
พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมตั้งแต่ วันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท สอบถามข้อมูล โทร.0 5477 2777 www.finearts.go.th/nanmuseum
3.วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร
เดิมเรียกว่า วัดหลวง หรือ วัดหลวงกลางเวียง สร้างขึ้นในสมัยเจ้าปู่เข่ง (ปู่เข็ง) พ.ศ.1949 เป็นวัดหลวงซึ่งเจ้าผู้ครองนครใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญทางพุทธศาสนาและพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ตามศิลาจารึกหลักที่ 74 ซึ่งถูกค้นพบภายในวัดกล่าวว่า พญาพลเทพฤาชัย เจ้าเมืองน่านได้ปฏิสังขรณ์บูรณะวิหารหลวงเมื่อ พ.ศ. 2091 ลักษณะสถาปัตยกรรมของวัดพระธาตุช้างค้ำนี้สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย เช่น เจดีย์ทรงลังกา (ทรงระฆัง) รอบฐานองค์พระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนและปั้นเป็นรูปช้างครึ่งตัว ด้านละ 5 เชือก และที่มุมทั้งสี่อีก 4 เชือก ดูคล้ายใช้หลังหนุนหรือค้ำองค์เจดีย์ไว้ ลักษณะคล้ายวัดช้างล้อม จังหวัดสุโขทัย และภายในวิหารประดิษฐาน พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางประทานอภัย สูง 145 เซนติเมตร อายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ตรงกับสมัยสุโขทัยตอนปลาย มีส่วนผสมของทองคำ 65 เปอร์เซ็น พระประธานปูนปั้นศิลปะเชียงแสนขนาดใหญ่ ฝีมือสกุลช่างน่านที่มีพุทธลักษณะงดงามยิ่ง
เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น.(ในวันที่มีการเปิดตลาดคนเดินบริเวณข่วงเมือง เปิดให้เข้าชมจนถึงเวลา 21.00 น.) สอบถามข้อมูลได้ที่ ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวเทศบาลเมืองน่าน โทร.0 5475 1169, 08 4617 1542
4.วัดมิ่งเมืองและเสาพระหลักเมืองน่าน
สร้างเมื่อ พ.ศ.2400 สันนิษฐานว่าสร้างพร้อมกับการย้ายเมืองน่านลักษณะเด่นคือ ลายปูนปั้นที่ผนังด้านนอกของพระอุโบสถ เป็นฝีมือตระกูลช่างเชียงแสน มีความวิจิตรงดงามมากและยังเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างวัดร่องขุ่นในจังหวัดเชียงรายอีกด้วยภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงให้เห็นวิถีชีวิตของชาวเมืองน่าน ฝีมือช่างท้องถิ่นยุคปัจจุบัน และบริเวณวัดยังเป็นที่ประดิษฐาน เสาหลักเมือง ซึ่งอยู่ในศาลาจตุรมุขด้านหน้าพระอุโบสถ เสาหลักเมืองสูงประมาณ 3เมตร ฐานประดับด้วยไม้แกะลวดลายลงรักปิดทอง ยอดเสาแกะสลักเป็นรูปพรหมพักตร์ชื่อ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา พร้อมทั้งคำอธิบายการขึ้นถวายสักการะพระหลักเมืองน่านตามทิศมงคลต่าง ๆ สอบถามข้อมูลได้ที่
5.วัดพระธาตุแช่แห้ง
หลังจากที่ย้ายมาจากเมืองปัว เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัด วัดพระบรมธาตุแช่แห้งสร้างในสมัยเจ้าพระยาการเมือง (เจ้าผู้ครองนครน่านระหว่าง พ.ศ.1869-1902) เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุ ๗ พระองค์ พระพิมพ์เงินและพระพิมพ์ทอง ที่ได้รับพระราชทานจากพระมหาธรรมราชาลิไท เมื่อครั้งที่เจ้าพระยาการเมืองเสด็จไปช่วยสร้างวัดหลวงอภัย (วัดป่ามะม่วง จังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน) เมื่อ พ.ศ.1897 องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงระฆัง รูปแบบของพระธาตุแช่แห้ง สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากเจดีย์พระธาตุหริภุญไชย โดยรอบองค์บุด้วยทองจังโก (ทองดอกบวบ ทองเหลืองผสมทองแดง) ทางขึ้นสู่องค์พระธาตุเป็นตัวพญานาค หน้าบันเหนือประตูทางเข้าพระวิหารเป็นปูนปั้นลายนาคเกี้ยว ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมเมืองน่านและยังสื่อความเชิงพระพุทธปรัชญาขั้นสูง นาค 8 หัว แทนอริยมรรคแปด อันเป็นแปดเส้นทางที่พระตถาคตใช้สอนพุทธศาสนิกชนให้เดินสู่หนทางแห่งความหลุดพ้น ขณะที่การเกี่ยวกันเป็น 3 ชั้นนั้น แทนองค์ 3 ในพระพุทธศาสนา ได้แก่ กฎไตรลักษณ์ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระบรมธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุราศีของคนเกิดปีเถาะ (ปีกระต่าย) ชาวล้านนาเชื่อว่า หากได้เดินทางไป ชุธาตุ หรือนมัสการพระธาตุประจำปีเกิดจะได้รับอานิสงส์อย่างยิ่ง
เปิดทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น. สอบถามข้อมูล โทร. 0 5475 1846, 08 9432 7801
6.อุทยานแห่งชาติดอยภูคา
ดอยภูคาเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำน่าน ลำน้ำปัว และลำน้ำว้า บริเวณนี้เดิมเคยเป็นทะเลมาก่อน ก่อนจะเกิดการเคลื่อนตัวของแผ่นดินสองผืนใต้ทะเลเข้าหากัน ทำให้แผ่นดินโก่งตัวขึ้น น้ำทะเลใต้ดินระเหยไปเหลือเพียงสินแร่เกลือ ดังที่พบในอำเภอบ่อเกลือ และการค้นพบสุสานหอยทะเลอายุประมาณ 200 ล้านปี บนดอยภูแวที่บ้านค้างฮ่อ ตำบลสะกาด อำเภอปัว มีลักษณะเป็นหอยแครงสองฝา ดร.จงพันธ์ จงลักษณ์มณี นักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี สรุปว่า เป็นซากหอยที่มี ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า พาลีโอคาร์ดิต้า สปีชี่ (Paleocardita Species) อายุ 195-205 ล้านปี จัดอยู่ในยุคไทรแอสซิก (Triassic)ตอนปลายสถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ เพิ่มเติม ติดต่อ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา โทร.0 5470 1000,08 1881 6785 หรือ ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13โทร. 0 5462 6770ติดต่อจองบ้านพักที่ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช โทร.0 2562 0760www.dnp.go.th
7.ตลาดเช้าเมืองน่านหรือ ตลาดสดตั้งจิตอนุสรณ์
ตลาดเช้าที่คึกคักไปด้วยวิถีชีวิตท้องถิ่น มีการตักบาตรตอนเช้าและการจำหน่ายอาหารเช้าพื้นบ้าน เช่น น้ำพริกหนุ่ม ข้าวเหนียวจิ้นปิ้ง (หมูปิ้ง) ไส้อั่ว น้ำพริกต่าง ๆ รวมทั้งร้านต้มเลือดหมูและโจ๊กที่ขึ้นชื่อของจังหวัด นักท่องเที่ยวนิยมเช่าจักรยานจากโรงแรม เพื่อปั่นชมบรรยากาศตอนเช้าของตลาดแห่งนี้ เปิดเวลา 05.00-08.00 น. สอบถามข้อมูลได้ที่ ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวเทศบาลเมืองน่าน โทร. 0 5475 1169, 08 4617 1542
8.ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา
ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2542 จากการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้แก่เยาวชน เกษตรกร และประชาชนทั่วไปที่มาเยี่ยมชม อาทิ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ห้องสมุด อาคารแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร อาคารแปรรูปชาอู่หลงพร้อมทั้งให้ทดลองชิมชา ไร่กาแฟบนภูเขา และการปลูกพืชไร้ดินแบบไฮโดรโปนิกส์สำหรับคณะที่ต้องการมาศึกษาดูงาน ที่ศูนย์ฯ บริการห้องประชุม ห้องสัมมนา และที่พัก ห้องพักแบ่งออกเป็น ห้องธรรมดา จำนวน 5 ห้อง ห้องวีไอพี จำนวน 7 ห้อง ราคา 1,000 บาท ห้องรวมพักได้ 18 คน จำนวน 4 ห้อง (ไม่มีบริการผ้าเช็ดตัว) เปิดให้เข้าชม เวลา 08.30-16.30 น.สอบถามข้อมูลและสำรองที่พักล่วงหน้า โทร.0 5471 0610,08 6216 6144
9.วัดหัวข่วง
มีหลักฐานการบูรณะในราว พ.ศ.2425 โดยเจ้าอนันตวรฤทธิเดชเจ้าเมืองน่าน และ พ.ศ. 2533 กรมศิลปากรได้ทำการบรูณะครั้งล่าสุด พร้อมทั้งประกาศเป็นโบราณสถานของชาติ ภายในวัดเป็นศิลปะแบบล้านนา พระวิหาร เป็นอาคารทรงจั่ว โดดเด่นที่หน้าบันประทับลวดลายไม้จำหลักรูปพรรณพฤกษาประณีตและสวยงาม ซุ้มประตูหน้าต่างประดับด้วยปูนปั้นแกะสลักลายใบผักกาดแบบศิลปะตะวันตก นอกจากนี้ ยังมี หอไตร เก่าแก่ ใต้ถุนทึบและธรรมาสน์ทรงสี่เหลี่ยม มียอดเป็นรูปน้ำเต้าสลักลายลงรักปิดทองประดับกระจก หน้าบันและฝาชั้นบน ประดับลายแกะสลักสวยงาม เป็นสถานที่เก็บพระไตรปิฎกและคำภีร์โบราณ เจดีย์วัดหัวข่วง ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทศิลปะล้านนา ฐานล่างทำเป็นหน้ากระดานสี่เหลี่ยมรับฐานบัวลูกแก้ว 2 ชั้น มีชั้นหน้ากระดานคั่นกลาง ฐานบัวลูกแก้วชั้นบน ย่อเก็จรับกับเรือนธาตุไปจรดชั้นบัวถลา (บัวคว่ำ) ใต้องค์ระฆัง ส่วนเรือนธาตุมีซุ้มจรนัมด้านละซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย ที่มุมผนังทั้งสองข้างปั้นเป็นรูปเทวดาทรงเครื่องยืนพนมมือ เหนือเรือนธาตุเป็นชั้นบัวถลาซ้อนกัน 3 ชั้น รองรับองค์ระฆังขนาดเล็กไม่มีบัลลังก์ ลักษณะของเจดีย์โดยรวมคล้ายกับเจดีย์วัดโลกโมฬี อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ แต่ส่วนฐานล่างและชั้นบัวถลาของเจดีย์นี้ยืดสูงขึ้น ทำให้มีลักษณะเรียวสูงกว่า แสดงถึงพัฒนาการทางรูปแบบที่ช่างเมืองน่านดัดแปลงนำมาใช้ในระยะหลัง ซึ่งมีอายุอยู่ในราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 22
10.ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์กับวัดโป่งคำ
เป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนบ้านโป่งคำ เพื่อพัฒนาศักยภาพของชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและอยู่ได้อย่างยั่งยืน โดยพระอาจารย์สมคิด จรณธมฺโม จัดตั้ง ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชนบ้านโป่งคำ โดยมีการจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ เพื่อแสวงหาองค์ความรู้และภูมิปัญญาชุมชน ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสวิถีชีวิตและเรียนรู้จากกลุ่มต่าง ๆ อาทิ กลุ่มย้อมผ้าสีธรรมชาติ กลุ่มเพาะเห็ด กลุ่มตีเหล็กของสมาคมผู้สูงอายุ กลุ่มจักสาน กลุ่มเกษตรอินทรีย์ กลุ่มเยาวชนเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนโป่งคำ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการพัฒนาและกลุ่มเครือข่ายแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สอบถามข้อมูลได้ที่ มูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน วัดโป่งคำ โทร. 0 5476 7289