รายละเอียด
1. พระราชวังบางปะอิน ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เนื่องจากบริเวณเกาะบางปะอินเป็นที่ประสูติของพระองค์ และกล่าวกันว่าเป็นเคหสถานเดิมของพระมารดาซึ่งเป็นหญิงชาวบ้านที่สมเด็จพระเอกาทศรถทรงพบเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งแล้วเรือเกิดล่มตรงเกาะบางปะอิน พระเจ้าปราสาททอง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นบนเกาะบางปะอินบริเวณเคหสถานเดิมของพระมารดาในปี พ.ศ.2175 พระราชทานชื่อว่า วัดชุมพลนิกายาราม และให้ขุดสระน้ำสร้างพระราชนิเวศน์ขึ้นกลางเกาะเป็นที่สำหรับเสด็จประพาส สร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งริมสระน้ำ พระราชทานนามว่า พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ พระราชวังบางปะอินได้รับการบูรณะฟื้นฟูอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งสำหรับเป็นที่ประทับ มีเรือนแถวสำหรับฝ่ายในและมีพลับพลาริมน้ำ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ขึ้นดังที่ปรากฏในปัจจุบัน ซึ่งยังคงใช้เป็นที่ประทับและต้อนรับพระราชอาคันตุกะ และพระราชทานเลี้ยงรับรองในโอกาสต่าง ๆ พระราชวังบางปะอินแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เขตพระราชฐานชั้นนอก และเขตพระราชฐานชั้นใน เขตพระราชฐานชั้นนอกใช้เป็นที่สำหรับการออกมหาสมาคม และพระราชพิธีต่าง ๆ ส่วนเขตพระราชฐานชั้นในใช้เป็นที่ประทับส่วนพระองค์
การเดินทาง มาตามเส้นทางอยุธยา-อ่างทอง / โรจนะ ไปตำบลหอรัตนไชย เทศบาลพระนครศรีอยุธยา 850 เมตร เลี้ยวซ้าย 1 กิโลเตร เข้าทางหลวงหมายเลข 3477 ไปตำบลบ้านเลน ระยะทาง 15 กิโลเมตร
2. วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้สร้างวัดนี้เมื่อปี พ.ศ.2419 เพื่อใช้เป็นที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ขณะเสด็จประทับที่พระราชวังบางปะอิน วัดนี้มีลักษณะพิเศษคือมีการตกแต่งเป็นแบบตะวันตก พระอุโบสถ คล้ายโบสถ์ฝรั่งในศาสนาคริสต์ มีหลังคายอดแหลม และช่องหน้าต่างเจาะโค้งแบบโกธิค ผนังอุโบสถเหนือหน้าต่างด้านหน้าพระประธานประดับกระจกสีเป็นพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 ฐานชุกชีที่ประดิษฐานพระประธาน พระพุทธนฤมลธรรโมภาส ทำเหมือนที่ตั้งไม้กางเขน ในโบสถ์คริสตศาสนา ด้านขวามือของพระอุโบสถ หอประดิษฐานพระคันธารราฐซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนปางขอฝน ตรงข้ามกับหอพระคันธารราฐเป็นหอประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาเก่าแก่ปางนาคปรกอันเป็นพระพุทธรูปสมัยลพบุรีฝีมือช่างขอมอายุเก่านับพันปี พระนาคปรกนี้อยู่ติดกับต้นพระศรีมหาโพธิ์ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านไปทั่วบริเวณหน้าพระอุโบสถ และมี สวนหิน “ดิศกุลอนุสรณ์” ซึ่งรวบรวมหินชนิดต่างๆ เช่น หินปูน หินทราย หินกรวด หินชนวน และเป็นสถานที่บรรจุอัฐิของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและอัฐิของเจ้าจอมมารดาชุ่ม พระสนมเอกในรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นพระมารดาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และมีอัฐิของเจ้านายราชสกุลดิศกุลอีกหลายองค์
การเดินทาง มาตามเส้นทางอยุธยา-อ่างทอง / โรจนะ ไปตำบลหอรัตนไชย เทศบาลพระนครศรีอยุธยา 850 เมตร เลี้ยวซ้าย 1 กิโลเตร เข้าทางหลวงหมายเลข 3477 ไปตำบลบ้านเลน 16.5 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไป 1.9 กิโลเมตร
3. วัดพระมงคลบพิตร ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประดิษฐานพระมงคลบพิตร เป็นพระพุทธรูปบุสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย ขนาด หน้าตักกว้าง 9.55 เมตร และสูง 12.45 เมตร นับเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์หนึ่งในประเทศไทย สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นระหว่างปี พ.ศ. 1991–2145 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายจากทิศตะวันออกนอกพระราชวังมาไว้ทางด้านทิศตะวันตกที่ประดิษฐานอยู่ในปัจจุบัน และโปรดเกล้าฯ ให้ก่อมณฑปสวมไว้
สมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ เมื่อปี พ.ศ. 2249 อสุนีบาตตกลงมาต้องยอดมณฑปพระมงคลบพิตรเกิดไฟไหม้ ทำให้ส่วนบนขององค์พระมงคลบพิตรเสียหาย จึงโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมใหม่ แปลงหลังคายอดมณฑปเป็นมหาวิหาร และต่อพระเศียรพระมงคลบพิตรในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (ปี พ.ศ. 2285–2286) ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2310 วิหารพระมงคลบพิตรถูกข้าศึกเผาเครื่องบนโทรมลงมาต้องพระเมาฬีและพระกรขวาของพระมงคลบพิตรหัก รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ใหม่ สำหรับบริเวณข้างวิหารพระมงคลบพิตรทางด้านทิศตะวันออกแต่เดิมเป็นสนามหลวง ใช้เป็นที่สำหรับสร้างพระเมรุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และเจ้านายเช่นเดียวกับท้องสนามหลวงของกรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-16.00 น.
การเดินทาง จากศาลากลางจังหวัดพระนครศร๊อยุธยาหลังเก่า ไปถึงวงเวียนเลี้ยวซ้ายไป 500 เมตร เลี้ยวขวาถึงด้านหลังพระวิหารพระมงคลบพิตร
4. วัดพระศรีสรรเพชญ์ ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เป็นวัดสำคัญที่สร้างอยู่ในพระราชวังหลวงเทียบได้กับวัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่งกรุงเทพมหานคร หรือวัดมหาธาตุแห่งกรุงสุโขทัย ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างพระราชมณเฑียรเป็นที่ประทับบริเวณนี้ ภายหลังเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2310 วัดนี้ได้ถูกเผาทำลาย กระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญชิ้นส่วนชำรุดของพระประธานในวิหารหลวงลงมากรุงเทพฯ และบรรจุชิ้นส่วนซึ่งบูรณะไม่ได้เหล่านั้นไว้ในเจดีย์องค์ใหญ่ที่สร้างขึ้น พระราชทานชื่อเจดีย์ว่า “เจดีย์สรรเพชญดาญาณ” ปัจจุบันวัดพระศรีสรรเพชญ์งดงามด้วยสถาปัตยกรรม และความสำคัญทางประวัติศาสตร์ควรแก่การเดินทางไปชมเพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทย
การเดินทาง มาตามทางหลวงหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) เข้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถึงวงเวียน ขึ้นสะพานปรีดีพนมยงค์ ตรงไปถนนศรีสรรเพชญ์ เลี้ยวขวา ถึงวงเวียนเลยไปถึงวัดพระศรีสรรเพชญ์
5. วัดบรมพุทธาราม อยู่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ถนนศรีสรรเพชญ์ ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สร้างในสมัยสมเด็จพระเพทราชา ประมาณปี พ.ศ. 2231-2246 ณ บริเวณย่านป่าตองอันเป็นนิวาสสถานเดิมของพระองค์ อาณาบริเวณวัดนี้ถูกจำกัดโดยเส้นทางคมนาคมสมัยโบราณ คือด้านตะวันออกเป็นแนวคลองฉะไกรน้อย ด้านตะวันตกเป็นแนวถนนหลวงชื่อถนนมหารัฐยา หรือถนนป่าตอง แนวถนนและคลองดังกล่าวบังคับแผนผังของวัดให้วางตัวตามแนวเหนือใต้ โดยหันหน้าวัดไปทางทิศเหนือ วัดนี้แตกต่างจากวัดอื่นตรงที่โปรดฯ ให้ทำกระเบื้องเคลือบสีเหลืองขึ้นมุงหลังคาพระอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ และใช้ประดับเจดีย์และซุ้มประตู จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดกระเบื้องเคลือบ” ซึ่งใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปีจึงแล้วเสร็จ ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โปรดฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดนี้ครั้งใหญ่ และให้ทำบานประตูมุกฝีมืองดงาม 3 คู่ บานประตูมุกนี้ปัจจุบันคู่หนึ่งอยู่ที่หอพระมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
คู่หนึ่งอยู่ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม และอีกคู่หนึ่งมีผู้ตัดไปทำตู้หนังสือ ซี่งขณะนี้ตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร
การเดินทาง จากสะพานสมเด็จพระนเรศวร ไปตามถนนโรจนะสุดถนน เลี้ยวซ้าย หรือจากเจดีย์วัดสามปลื้ม ไปตามเส้นทางอยุธยา-อ่างทอง / โรจนะ ประมาณ 3 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนศรีสรรเพชญ์
6. วัดมหาธาตุ อยู่ภายในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ถนนนเรศวร ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนรศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีพระอยุธยา
พงศาวดารบางฉบับกล่าวว่า วัดนี้สร้างในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ต่อมาสมเด็จพระราเมศวร โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ใต้ฐานพระปรางค์ประธานของวัดเมื่อปี พ.ศ. 1927 พระปรางค์วัดมหาธาตุถือเป็นปรางค์ที่สร้างในระยะแรกของสมัยอยุธยา ซึ่งได้รับอิทธิพลจากปรางค์ขอม ชั้นล่างก่อสร้างด้วยศิลาแลง ส่วนที่เสริมใหม่ตอนบนเป็นอิฐถือปูน สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โปรดฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระปรางค์ใหม่โดยเสริมให้สูงกว่าเดิม แต่ขณะนี้ยอดพังลงมาเหลือเพียงชั้นมุขเท่านั้น จึงเป็นที่น่าเสียดายเพราะมีหลักฐานว่าเป็นปรางค์ที่มีขนาดใหญ่และก่อสร้างอย่างวิจิตรสวยงามมาก เมื่อปี พ.ศ. 2499 กรมศิลปากรได้ขุดแต่งพระปรางค์แห่งนี้ พบของโบราณหลายชิ้น ที่สำคัญคือ ผอบศิลา ภายในมีสถูปซ้อนกัน 7 ชั้น แบ่งออกเป็น ชิน เงิน นาก ไม้ดำ ไม้จันทน์แดง แก้วโกเมน และทองคำ ชั้นในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และเครื่องประดับอันมีค่า ปัจจุบันพระบรมสารีริกธาตุนำไปประดิษฐานไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา สิ่งที่น่าสนใจในวัดอีกอย่างคือ เศียรพระพุทธรูปหินทราย ซึ่งมีรากไม้ปกคลุม เศียรพระพุทธรูปนี้คงหล่นลงมาอยู่ที่โคนต้นไม้ในสมัยเสียกรุง จนรากไม้ขึ้นปกคลุมมีความงดงามแปลกตาไปอีกแบบ ซึ่งนับเป็นแหล่ง Unseen in Thailand แห่งหนึ่ง
การเดินทาง จากตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา มาทางสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตรงไปถึงแยกสัญญาณไฟจราจรที่สอง เลี้ยวขววา ตรงไปผ่านบึงพระราม วัดอยู่ซ้ายมือ
7. วัดราชบูรณะ อยู่เชิงสะพานป่าถ่าน ตรงข้ามวัดมหาธาตุ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สมเด็จพระบรม-ราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1967 ณ บริเวณที่ถวายพระเพลิงเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยาซึ่งชนช้างกันจนถึงแก่พิราลัย และโปรดเกล้าฯ ให้ก่อเจดีย์ 2 องค์บริเวณนั้น วัดนี้และวัดมหาธาตุเมื่อคราวเสียกรุงถูกไฟไหม้เสียหายมาก ซากที่เหลืออยู่แสดงว่าวิหารและส่วนต่าง ๆ ของวัดนี้ใหญ่โตมาก วิหารหลวงมีขนาดยาว 63 เมตร กว้าง 20 เมตร ด้านหน้ามีบันไดขึ้น 3 ทาง ที่ผนังวิหารเจาะเป็นบานหน้าต่าง ปัจจุบันยังปรากฏซากของเสาพระวิหารและฐานชุกชีพระประธานเหลืออยู่ พระปรางค์ประธาน เป็นศิลปะอยุธยาสมัยแรกซึ่งนิยมสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมขอมที่ให้พระปรางค์เป็นประธานของวัด ช่องคูหาของพระปรางค์มีพระพุทธรูปยืนปูนปั้นประดิษฐานช่องละ 1 องค์ องค์ปรางค์ประดับด้วยปูนปั้นรูปครุฑ ยักษ์ เทวดา นาค พระปรางค์องค์นี้มีลวดลายสวยงามมาก ภายในกรุปรางค์มีห้องกรุ 2 ชั้น สามารถลงไปชมได้ ชั้นบนมีภาพจิตรกรรม
ฝาผนังเลือนราง ชั้นล่างซึ่งเคยเป็นที่เก็บเครื่องทอง มีภาพจิตรกรรมเขียนด้วยสีแดงชาดปิดทองเป็นรูปพระพุทธรูปปางลีลาและปางสมาธิ รวมทั้งรูปเทวดาและรูปดอกไม้ เมื่อปี พ.ศ. 2500 คนร้ายได้ลักลอบขุดโบราณวัตถุที่ฝังไว้ในกรุปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ โดยขุดเจาะจากพื้นคูหาเรือนธาตุลงไปพบห้องที่ฝังโบราณวัตถุ 2 ห้อง ต่อมาทางราชการติดตามจับคนร้ายและยึดโบราณวัตถุได้เพียงบางส่วน โบราณวัตถุในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะทำด้วยทองคำ สัมฤทธิ์ หิน ดินเผา และอัญมณี เมื่อกรมศิลปากรขุดแต่งพระปรางค์วัดราชบูรณะต่อ ได้นำโบราณวัตถุที่มีค่าไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ซึ่งสร้างโดยเงินบริจาคจากการนำพระพิมพ์ขนาดเล็กที่ได้จากกรุนี้มาจำหน่ายเป็นของชำร่วย
การเดินทาง จากตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา มาทางสะพานสมเด็จพระนเรศวร ตรงไปถึงแยกสัญญาณไฟจราจรที่สอง เลี้ยวขววา ตรงไปผ่านบึงพระราม อยู่ตรงข้ามวัดมหาธาตุ
8. วัดไชยวัฒนาราม ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกนอกเกาะเมือง เป็นวัดที่พระเจ้าปราสาททอง กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาองค์ที่ 24 (ปีพ.ศ. 2173-2198) โปรด ฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2173 ได้ชื่อว่าเป็นโบราณสถานที่มีความงดงามมากที่สุด และมีความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ วัดนี้เป็นที่ฝังพระศพเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) กวีเอกสมัยอยุธยาตอนปลาย และเจ้าฟ้าสังวาลย์ ซึ่งต้องพระราชอาญาจนสิ้นพระชนม์ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปรางค์ประธานของวัดนี้ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส และที่มุมฐานมีปรางค์ทิศประจำอยู่ทั้งสี่มุม การที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองซึ่งเป็นกษัตริย์สมัยอยุธยาตอนปลายทรงสร้างปรางค์ขนาดใหญ่เป็นประธานของวัดเท่ากับเป็นการรื้อฟื้นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้นที่นิยมสร้างปรางค์เป็นประธานของวัด เช่น การสร้างปรางค์ที่วัดมหาธาตุ และวัดราชบูรณะ โดยนำรูปแบบสถาปัตยกรรมเขมรเข้ามาใช้ในการก่อสร้างปรางค์อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ พระระเบียงรอบปรางค์ประธาน ภายในพระระเบียงมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยผนังระเบียงก่อด้วยอิฐถือปูน มีลูกกรงหลอกเป็นรูปลายกุดั่น พระอุโบสถอยู่ด้านหน้าของวัดภายในมีซากพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสร้างด้วยหินทราย ใบเสมาของพระอุโบสถทำด้วยหินสีค่อนข้างเขียว จำหลักเป็นลายประจำยาม และลายก้านขด เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองทางด้านหน้าพระอุโบสถ มีเจดีย์ 2 องค์ ฐานกว้าง 12 เมตร สูง 12 เมตร ซึ่งถือเป็นศิลปะที่เริ่มมีแพร่หลายตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง วัดไชยวัฒนาราม ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 และกรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะตลอดมาจนปัจจุบันสวยงามยิ่งใหญ่ตระการตา ซึ่งผู้ไปเยือนไม่ควรพลาดชมอย่างยิ่ง
การเดินทาง จากตัวเมืองพระนครสรีอยุธยา มาทางสี่แยกวรเวษฐ์ เลี้ยวขวาเข้าทางหหลวงหมายเลข 3269 ถึงแยกบ้านป้อม กลับรถใต้สะพาน มีทางแยกซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายไปสุดทาง วัดอยู่ซ้ายมือ
9. วัดหน้าพระเมรุ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
อยู่ริมคลองสระบัว สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น พุทธศักราช 2046 มีชื่อเดิมว่า “วัดพระเมรุราชิการาม” ในประวัติศาสตร์เขียนไว้ว่าพระองค์อินทร์ ในรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างวัดนี้เมื่อปี พ.ศ.2046 วัดนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อครั้งทำศึกกับพระเจ้าหงสาวดีตะเบงชะเวตี้ ได้มีการเจรจาสัญญาสงบศึก โดยสร้างพลับพลาที่ประทับขึ้นระหว่างวัดหน้าพระเมรุกับวัดหัสดาวาส วัดนี้เป็นวัดเดียวที่อยู่ติดกับพระบรมมหาราชวังกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ได้ถูกข้าศึกทำลาย และยังคงปรากฏสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาอยู่ในสภาพสมบูรณ์มากที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระอุโบสถมีขนาดยาว 50 เมตร กว้าง 16 เมตร เป็นแบบอยุธยาตอนต้นซึ่งมีเสาอยู่ภายใน ต่อมาสร้างขยายออกโดยเพิ่มเสารับชายคาภายนอกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หน้าบันเป็นไม้สักแกะสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเหยียบเศียรนาค และมีรูปราหูสองข้างติดกับเศียรนาค หน้าต่างเจาะเป็นช่องยาวตามแนวตั้ง เสาเหลี่ยมสองแถว แถวละแปดต้น มีบัวหัวเสาเป็นบัวโถแบบอยุธยา ด้านบนประดับด้วยดาวเพดานเป็นงานจำหลักไม้ลงรักปิดทอง ส่วนลายแกะสลักบานประตูพระวิหารน้อย เป็นลายแกะสลักด้วยไม้สักหนาแกะสลักจากพื้นไม้ไม่มีการนำชิ้นส่วน ที่อื่นมาติดต่อเป็นลายซ้อนกันหลายชั้น พระประธานในอุโบสถสร้างปลายสมัยอยุธยาเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทรงเครื่องแบบกษัตราธิราช มีนามว่า“พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ” จัดเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตราธิราชสมัยอยุธยาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีปรากฏอยู่ในปัจจุบัน และมีความสมบูรณ์งดงามมาก
การเดินทาง จากศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปตามเส้นทางอยุธยา-อ่างทอง / โรจนะ เลี้ยวขวาทางคลองมะขามเรียง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนนรศวร 260 เมตร เลี้ยวขวา 190 เมตร เลี้ยวซ้าย 29 เมตร
10. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ถนนโรจนะ ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระครศรีอยุธยา
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นสถานที่เก็บทองคำล้ำค่าของกรุงศรีอยุธยา สร้างขึ้นด้วยเงินที่ประชาชนเช่าพระพิมพ์ที่ขุดได้จากกรุวัดราชบูรณะ ซึ่งเป็นวัดที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ทรงสร้าง จึงให้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. 2504
อาคาร 1 - ชั้นล่าง จัดแสดงโบราณศิลปะวัตถุที่ค้นพบจากการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างปี พ.ศ. 2499-2500 ได้แก่ พระพุทธรูปศิลปะสมัยทวารวดี ลพบุรี อยุธยา พระพุทธรูปสำคัญที่จัดแสดง พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท เป็นพระพุทธรูปศิลาขาวสมัยทวารวดี ในท่าประทับนั่งห้อยพระบาท ซึ่งเคยประดิษฐานในซุ้มพระสถูปโบราณวัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม กรมศิลปากรได้พยายามติดตามชิ้นส่วนต่าง ๆ ขององค์พระที่กระจัดกระจายไปอยู่ในที่ต่าง ๆ มาประกอบขึ้นเป็นองค์พระได้อย่างสมบูรณ์ นับเป็นพระพุทธรูปที่มีค่ามากองค์หนึ่งซึ่งในโลกพบเพียง 6 องค์เท่านั้น คือในประเทศไทย 5 องค์ และในประเทศอินโดนีเซีย 1 องค์ ในประเทศไทยประดิษฐานอยู่ที่วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม 2 องค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร 1 องค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา 1 องค์ และวัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 1 องค์ เศียรพระพุทธรูปสมัยอู่ทองทำด้วยสัมฤทธิ์มีขนาดใหญ่มากได้มาจากวัดธรรมมิกราช แสดงให้เห็นถึงความเก่าแก่ของวัด และฝีมือการหล่อวัตถุขนาดใหญ่ในสมัยโบราณ นอกจากนี้ มีเครื่องไม้จำหลักฝีมือช่างสมัยอยุธยา
- ชั้นบน จัดแสดงเครื่องทอง 2 ห้อง ห้องแรก จัดแสดงเครี่องทองที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ เมื่อปี พ.ศ 2500 โบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ พระแสงขรรค์ชัยศรีทองคำ องค์พระแสงขรรค์ทำด้วยเหล็กมีคมทั้ง 2 ด้าน ฝักทำด้วยทองคำจำหลักลายประจำยาม ลายกระหนกประดับอัญมณี ด้ามทำด้วยหินเขี้ยวหนุมาน ห้องที่สอง จัดแสดงเครื่องทองที่พบในกรุพระปรางค์วัดมหาธาตุประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งบรรจุอยู่ในผอบทองคำ ส่วนที่รอบเฉลียง จัดแสดงพระพิมพ์ที่ทำด้วยชิน (โลหะเจือชนิดหนึ่งประกอบด้วยตะกั่วและดีบุก บุทองแดง) และดินเผา สมัยสุโขทัย ลพบุรี และสมัยอยุธยาที่ค้นพบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ และวัดพระราม
อาคาร 2 จัดแสดงโบราณศิลปะวัตถุที่พบในประเทศไทยตามลำดับอายุสมัยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11–24 คือตั้งแต่สมัยทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี เชียงแสน สุโขทัย อู่ทอง อยุธยา และรัตนโกสินทร์ เพื่อเป็นการศึกษาเปรียบเทียบโบราณวัตถุสำคัญที่จัดแสดง เช่น พระพุทธรูปปางต่าง ๆ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระคเณศ
อาคาร 3 เป็นเรือนไทยที่สร้างเป็นหมู่เรือนไทยภาคกลางปลูกอยู่กลางคูน้ำภายในเรือนไทยจัดแสดงศิลปะพื้นบ้าน เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของคนไทยสมัยก่อน เช่น หม้อดินเผา กระต่ายขูดมะพร้าว และเครื่องจักสานต่าง ๆ โบราณวัตถุเหล่านี้แสดงให้เห็นความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาในอดีตไว้อย่างน่าชมน่าศึกษา พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30-16.00 น.
การเดินทาง มาตามทางหลวงหมายเลข 32 (ถนนเอเชีย) เข้าตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ไปทางสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ลงสะพานผ่านแยกสัญญาณไฟจราจร 2 จุด พิพิธภัณฑ์อยู่ตรงข้ามมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา