ภาคกลาง นับได้ว่าเป็นอีกภาคหนึ่งในประเทศไทยที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก
จุดเด่นของภาคกลางคือเป็นแหล่งของอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญ เนื่องจากสภาพทางภูมิประเทศส่วนใหญ่ที่เป็นพื้นที่ที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำลำคลองหลายเส้นที่ตัดผ่าน จึงทำให้ภาคกลางกลายเป็นแหล่งกำเนิดการผลิตอาหารรวมถึงวัตถุดิบที่สำคัญของประเทศในหลาย ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นทางด้านเกษตรกรรม หรือปศุสัตว์ นอกจากนั้นแล้วในบางพื้นที่ของภาคกลางยังมีจังหวัดบางส่วนที่ติดกับทะเลจึงทำให้มีวัตถุดิบอีกมากมายที่ใช้ในการนำมาปรุงอาหารที่หลากหลาย
อาหารภาคกลาง คืออาหารที่คนภาคกลางนิยมทานจนกลายเป็นเอกลักษณ์ และมีรูปลักษณะของ รสชาติที่มีความโดดเด่นแตกต่างไปจากอาหารท้องถิ่นภาคอื่น ๆ ในประเทศไทย อีกทั้งยังถือเป็นประดิษฐ์กรรมทางวัฒนธรรม ที่มีความคิดสร้างสรรค์ โดยเกิดจากการผสมผสานวัฒนธรรมจากหลากหลายเชื้อชาติได้แก่ จีน อินเดีย ลาว เขมร พม่า เวียดนาม รวมไปถึงประเทศในแถบชาติตะวันตกที่เข้ามานับตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา
อาหารภาคกลางจึงเป็นอาหารที่มีความหลากหลายทั้งในเรื่องของกรรมวิธีการปรุง รสชาติ และการตกแต่งที่แปลกตา มีความวิจิตรปราณีตบรรจงโดยได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมมาจากอาหารภายในวัง นอกจากจะเป็นที่ชื่นชอบและนิยมของคนไทยภาคกลางแล้ว คนต่างเชื้อชาติหรือต่างถิ่นฐานที่มาเยือนจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบเพราะด้วยตัวรสชาติที่มีความอร่อย เปรี้ยว เค็ม และหวานกลมกล่อมลงตัว ให้คุณค่าอาหารสูง มีธาตุและสารอาหารจากเครื่องปรุง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของสมุนไพรและเครื่องเทศที่มีฤทธิ์ให้สรรพคุณเป็นยาป้องกันและบำบัดโรคยกตัวอย่างเช่น
- ต้มยำ หนึ่งในเมนูยอดนิยมตลอดกาลที่อยู่คู่กับคนไทยมาเนิ่นนาน มีให้เลือกทั้งน้ำข้น(จะใส่กะทิลงไป) และน้ำใส(ไม่ใส่กะทิลงไป) เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีใครไม่รู้จักเมนูนี้ ด้วยความหอมของตัวเครื่องสมุนไพรที่นำมาปรุงอย่างข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด รวมกับรสชาติที่จัดจ้าน กลมกล่อมลงตัว ทานคู่กับเนื้อสัตว์ได้หลากหลายตั้งแต่ เนื้อหมู เนื้อไก่ ไปจนสารพัดเนื้อสัตว์จากทะเล
- แกงเขียวหวาน หนึ่งในเมนูแกงที่ขึ้นชื่อติดอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ด้วยความเผ็ดร้อนของตัวเครื่องพริกแกงเขียวหวาน เมื่อมาผนวกรวมเข้ากับความหอมของหัวกะทิ และสมุนไพรไทยที่ใส่ลงไปอย่างกระชาย มะเขือพวง ใบโหระพา ทำให้เพิ่มความอร่อยของรสชาติให้ตัวแกงเขียวหวานยิ่งขึ้น
- น้ำพริกกะปิ เมนูเครื่องจิ้มที่รสชาติจัดจ้าน ด้วยตัวกลิ่นของกะปิที่มีความหอม เมื่อนำมาทำเป็นเครื่องจิ้ม ทานคู่กับปลาทูทอด ผักสดหรือผักลวก ไข่ชะอมทอด มะเขื่อยาวชุบแป้งทอด ยิ่งอร่อยมากขึ้น ส่วนใหญ่ร้านค้าจะปรุงให้ไม่จัดเกินไปเพื่อให้ทั้งคนไทยและต่างชาติสามารถทานได้
- ยำปลาดุกฟู เนื้อปลาดุกนำมาย่างจนแห้งและนำไปทอดจนฟูกรอบ ทานคู่กับน้ำยำรสชาติกลมกล่อมลงตัวครบรสทั้ง เปรี้ยว เค็ม หวาน และมีการใส่พริกลงไปเพื่อเพิ่มความจัดจ้าน
- ไข่พะโล้ เมนูที่หลายคนคุ้นเคย ทานได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ด้วยความหวานกลมกล่อมของน้ำซุปที่มีส่วนผสมของเครื่องเทศอย่างลูกผักชี และยี่หร่า แทรกซึมเข้าเนื้อไข่จนเข้มข้น ส่วนมากคนนิยมใส่หมูและเต้าหู้เพื่อเพิ่มรสชาติและเนื้อสัมผัสที่หลากหลายมากขึ้น ยิ่งได้ทานพร้อมกับข้าวสวยร้อนๆ ยิ่งลงตัว
- ข้าวเหนียวมะม่วง หนึ่งในเมนูอาหารหวานยอดนิยมที่ไม่ว่าจะคนไทยหรือคนต่างชาติต่างต้องเคยลิ้มลองรสชาติ ด้วยความหอมมันจากตัวกะทิที่ราดบนข้าวเหนียวมูล โรยด้วยถั่วทองคั่วกรอบ ตัดเลี่ยนด้วยมะม่วงน้ำดอกไม้สุกที่รสชาติเปรี้ยวอมหวานกำลังดี
นอกจากนี้แล้วอาหารภาคกลาง ยังมีการคิดค้นขึ้นเพื่อปรับตัวให้หมาะแก่ฤดูกาลและสภาพอากาศอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในฤดูร้อนที่สภาพอากาศค่อนข้างที่จะร้อน อบอ้าว ก็จะมีเมนูอาหารที่ช่วยในการ ดับคลายร้อน เพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย ได้แก่
- ข้าวแช่ อาหารไทยโบราณที่มีการประกอบไปด้วย ข้าวลอยในน้ำอบดอกมะลิหอม เครื่องกับข้าว ได้แก่ ลูกกะปิทอด พริกหยวกสอดไส้ หัวหอมสอดไส้ชุบแป้งทอด ปลาแห้งผัดหวาน มีผักเป็นของแนม ได้แก่ มะม่วงดิบ แตงกวา กระชาย และต้นหอม
- ขนมจีนซาวน้ำ อีกหนึ่งเมนูอาหารไทยโบราณที่รับประทานกับสับปะรด ขิงอ่อนซอย กระเทียมซอย กุ้งแห้งป่น กะทิข้น น้ำตาลทราย ราดด้วยพริก น้ำปลา มะนาว
เมนูทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมาไว้ข้างต้นสามารถหาทานได้ตามร้านทั่วไปในภาคกลางอย่างเช่นจังหวัด กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, นครปฐม, อยุธยา, นครสวรรค์ เป็นต้น ตั้งแต่ริมท้องถนน ตลาด ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าไปจนถึงระดับภัตตาคาร โรงแรมหรู ซึ่งนอกจากนี้ยังมีเมนูอีกมากมายหลายร้อยกว่าเมนูที่ขึ้นชื่อและสามารถหารับประทานกันได้ที่ภาคกลางของประเทศไทย