รายละเอียด
1. วัดพระธาตุลำปางหลวง
วัดคู่บ้านคู่เมืองลำปางมาแต่โบราณ ตามตำนานกล่าวว่ามีมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี ในราวพุทธศตวรรษที่ 20 ตอนปลาย เป็นวัดไม้ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย งดงามด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่มากมาย พระธาตุลำปางหลวง เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีฉลู ด้วยเริ่มสร้างในปีฉลูและเสร็จในปีฉลูเช่นกัน ฐานเป็นบัวลูกแก้ว ส่วนองค์เป็นทรงกลมแบบล้านนา ภายนอกบุด้วยทองจังโก ยอดฉัตรทำด้วยทองคำ มีลายสลักดุนเป็นลวดลายประจำยามแบบต่าง ๆ ลักษณะเจดีย์แบบนี้ได้ส่งอิทธิพลให้พระธาตุหริภุญไชยและพระบรมธาตุจอมทอง ภายในองค์พระเจดีย์บรรจุพระเกศาและพระอัฐิธาตุจากพระนลาฏข้างขวา พระศอด้านหน้าและด้านหลัง ที่รั้วทองเหลืองรอบองค์พระธาตุมีรูกระสุนปืนที่หนานทิพย์ ช้างยิงท้าวมหายศปรากฏอยู่
ที่ตั้ง : ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง
2. วัดพระธาตุดอยพระฌาน
ตั้งอยู่บนยอดเขาอันเงียบสงบภูเขาที่เรียกว่าดอยพระฌาน สามารถมองเห็นทิวทัศน์และทัศนียภาพที่สวยงามของอำเภอแม่ทะ เห็นทิวเขาต้นไม้เขียวขจีได้รอบทิศ ในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวในช่วงเวลาเช้าสามารถชมทะเลหมอกอันงดงามได้อีกด้วย
ที่ตั้ง : ตำบลป่าตัน อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง
3. วัดพุทธบาทสุทธาวาส
ชื่อเดิม วัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์ (วัดพระบาทปู่ผาแดง) หรืออีกชื่อที่ชาวบ้านนิยมเรียกกัน คือ “ดอยปู่ยักษ์ (ดอยพระบาทปู่ผาแดง)” ได้รับการยกย่องให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว “Unseen Thailand” ด้วยความงดงามของทิวทัศน์ที่มีลักษณะเป็นผาหินสูงชัน ประกอบกับเจดีย์สีทองที่สร้างอยู่บนภูเขาสูง ณ จุดสูงสุดของเจดีย์มีรอยพระพุทธบาทศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานอยู่ วัดในบริเวณชั้นล่าง นักท่องเที่ยวสามารถขับรถไปจอดในบริเวณหน้าวัดได้ ส่วนวัดบริเวณชั้นบน ตั้งอยู่บนยอดเขา นักท่องเทียวต้องขับรถขึ้นไป ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ต่อจากนั้นเดินเท้าขึ้นเขาประมาณ 1 กิโลเมตร
ที่ตั้ง : หมู่ที่ 7 บ้านทุ่งทอง ตำบลวิเชตนคร อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง
4. อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน
อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน มีธารน้ำแร่ที่เต็มไปด้วยโขดหินธรรมชาติที่สวยงามแทรกอยู่ท่ามกลางแอ่งน้ำร้อน น้ำแร่ที่มีอุณหภูมิสูงถึง 70-80 องศาเซลเซียส สามารถแช่ไข่ให้สุกได้ภายใน 15 นาที ไข่มีลักษณะไข่แดงสุก ไข่ขาวสุกไม่แข็ง เหมือนมะพร้าวอ่อน เมื่อนำมาปรุงเป็น “ ยำไข่แช่น้ำแร่ ” ซึ่งเป็นเมนูขึ้นชื่อ บริเวณน้ำตกแจ้ซ้อนและอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตร ธารน้ำจากน้ำตกแจ้ซ้อนไหลมาบรรจบกับธารน้ำร้อน จากน้ำแร่กลายเป็นธารน้ำอุ่น ทางอุทยานฯ จึงสร้างที่อาบน้ำแร่มาตรฐานเพื่อบริการนักท่องเที่ยวเพื่อจะได้มาแช่น้ำแร่ เหมาะสำหรับผู้ที่จะไปเที่ยวแบบครอบครัว สามารถเที่ยวได้ตลอดปี
ที่ตั้ง : หมู่ที่ 8 ถนนลำปาง-เด่นชัย ตำบลวังเงิน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง
5. ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย
ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อสิบปีก่อนที่อำเภองาว เพื่อฝึกช้างให้ออกไปทำงานด้านชักลากไม้ในป่า แต่ช่วงยี่สิบปีถัดมา รัฐได้ยกเลิกสัมปทานการทำป่าไม้ทั่วประเทศ ทำให้ช้างไม่มีที่อยู่ที่ทำงาน และถูกส่งกลับมาอยู่ที่โรงเรียนฝึกช้าง แต่พื้นที่ที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับช้างทั้งหมดได้ จึงได้ย้ายสถานที่มาอยู่ที่อำเภอห้างฉัตรในปัจจุบัน แบ่งพื้นที่เป็นโรงพยาบาลช้าง คอยรักษาดูแลอาการช้างที่ป่วยและลูกช้างที่คลอดใหม่ โรงงานทำกระดาษจากมูลช้างจำหน่ายและเพิ่มมูลค่าด้วยการทำเป็นกระดาษเขียนจดหมาย ซองจดหมายสมุดโน้ต และอื่น ๆ โรงงานผลิตกระดาษจากมูลช้างเปิดให้เข้าชมวิธีทำกระดาษจากมูลช้างด้วย โรงงานทำปุ๋ยชีวภาพจากมูลช้างและโรงงานแก๊สชีวภาพนำไปผลิตไฟฟ้าใช้ภายในศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย โรงช้างต้น และลานแสดงช้าง การแสดงช้างจะเน้นที่กิจกรรมของช้างที่เคยปฏิบัติในงานทำไม้เป็นหลัก ท่านที่ต้องการเรียนรู้การเป็นควาญช้าง ได้ฝึกช้างพร้อมกับได้ร่วมแสดงการแสดงช้าง หรือพักผ่อนค้างคืนที่นี่ ติดต่อศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย
ที่ตั้ง : อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง
6. วัดศรีรองเมือง
วัดศรีรองเมือง เดิมชื่อ วัดท่าคะน้อยพม่า เป็นวัดพม่าอีกที่หนึ่งของเมืองลำปางมีความสวยงาม สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๔๖ โดยคหบดีชาวพม่าที่เข้ามาทำไม้ในเมืองลำปาง ใช้เวลาในการสร้างประมาณ ๗ ปี ภายในมีศิลปะพม่าที่น่าสนใจคือ ตัววิหารสร้างด้วยไม้สัก หลังคาซ้อนเป็นชั้น ๆ แบบพม่า มีลายฉลุบนสังกะสี ใช้ประดับบนจั่วและเชิงชายคา ส่วนเสาไม้ในวิหารประดับด้วยกระจกหลากสี เดิมภายในวัดศรีรองเมืองมีทั้งวิหารใหญ่และวิหารน้อย สำหรับวิหารน้อยนั้นมีอยู่ถึง ๙ หลัง แต่ปัจจุบันวิหารน้อยเหล่านั้นปรักหักพังไปจนหมดสิ้น จึงเหลืออยู่เพียงวิหารใหญ่ซึ่งเป็นวิหารประธานของวัดเพียงหลังเดียว ปัจจุบันวัดมีอายุประมาณ ๑๐๓ ปี
ที่ตั้ง : อำเภอเมืองฯ จังหวัดลำปาง
7. วัดปงสนุกเหนือ
วัดปงสนุก เป็นวัดสำคัญของเมืองลำปาง แบ่งเป็น 2 วัด คือ วัดปงสนุกเหนือและวัดปงสนุกใต้ (อยู่ติดกัน) โดยสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยที่เจ้าอนันตยศ บุตรของพระนางจามเทวีแห่งหริภุญไชย (ลำพูน) เสด็จมาสร้างเขลางค์นคร (ลำปาง) เมื่อ พ.ศ. 1223 อดีตมีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อ ตามหลักฐานในจารึกที่พบในที่ต่าง ๆ มีอยู่ 4 ชื่อ คือ วัดศรีจอมไคล วัดศรีเชียงภูมิ วัดดอนแก้ว วัดพะยาว (พะเยา) ส่วนที่มาของชื่อปงสนุก มาจากถิ่นเดิมในเมืองเชียงแสน เนื่องจากในอดีตชาวเชียงแสนถูกต้อนมาอยู่บริเวณนี้ เป็นแหล่งรวบรวมสิ่งสำคัญหลายอย่างที่มีคุณค่าทางด้านศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม มีข้าวของเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เช่น พระพุทธรูปไม้ เสาหงส์ ซุ้มประตูโขง เป็นต้น ซึ่งได้รับรางวัล (Award of Merit) ด้านการอนุรักษ์มรดกทางด้านวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตามโครงการ 2008 Asia-Pacific Heritage Award for Cultural Heritage Conservation จากองค์การ UNESCO
ที่ตั้ง : อำเภอเมืองฯ จังหวัดลำปาง
8. ถนนคนเดินกาดกองต้า
กาดกองต้า หรือตลาดจีน ที่ชาวบ้านเรียกติดปาก เป็นย่านตลาดเก่าตั้งอยู่ขนานกับลำน้ำวัง ในซอยตลาดจีนริมน้ำ มีอาคารโบราณอายุร้อยปี บนถนนตลาดเก่าตลอดทั้งสาย ชุมชนกาดกองต้าถือเป็นถนนสายเศรษฐกิจที่มีความเป็นมาที่เก่าแก่และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ กาดกองต้า หมายถึงตลาดตรอกท่าน้ำ ในอดีตเคยเป็นตลาดที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากเมืองลำปางนั้นเคยเป็นศูนย์กลางทางการค้าของภาคเหนือ ย่านการค้าส่วนมากมักเกิดขึ้นริมฝั่งแม่น้ำสายใหญ่อย่างแม่น้ำวัง ทำให้เกิดชุมชนที่เข้ามาทำธุรกิจ เช่น อังกฤษ พม่า และจีน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้ามาทำการค้ามากที่สุด จนกลายเป็นชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ ชาวบ้านจึงเรียกกาดกองต้าว่า ตลาดจีน ในปัจจุบันด้วยสำนึกรักบ้านเกิดของคนภายในชุมชน ได้ตกแต่งบูรณะฟื้นฟูให้อาคารเก่ามีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง และกลายเป็นถนนสายวัฒนธรรมที่สวยงามมีเอกลักษณ์ ยิ่งเมื่อได้มีการปลุกฟื้นชีวิตชีวาด้วยการจัดถนนคนเดินในทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 17.00-22.00 น.
ที่ตั้ง : ถนนตลาดเก่า อำเภอเมืองฯ จังหวัดลำปาง
9. ถนนคนเดินสายวัฒนธรรม
ถนนวัฒนธรรม หรือถนนสายวัฒนธรรม ตั้งอยู่บนถนนวังเหนือ เข้าทางวัดประตูต้นผึ้ง หรือเข้าทางสะพานรัษฎาภิเศก ซึ่งเป็นแนวกำแพงเมืองเดิม บนถนนมีกู่เจ้าย่าสุตา สันนิษฐานว่าเป็นซุ้มประตูโขงของวัดกากแก้วในอดีต โดยเทศบาลนครลำปางได้เปิด “ถนนสายวัฒนธรรม” ซึ่งมีลักษณะเป็น “กาดหมั้วคัวแลง” สืบสานวิถีดั้งเดิม ทุกเย็นวันศุกร์ เวลา 16.00-21.00 น. เริ่มกิจกรรมมาแล้วตั้งแต่วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2553 จนถึงปัจจุบัน สินค้าที่มาจำหน่ายมีหลากหลาย เช่น พืชผักปลอดสาร ต้นไม้ อาหารพื้นเมือง ขนมโบราณ สินค้าย้อนยุค ของเก่า เครื่องจักสาน กรอบพระ แกะสลัก เครื่องเงิน เสื้อผ้า รองเท้า ของใช้ทำมือ เซรามิค ของเล่น
ที่ตั้ง : ถนนวังเหนือ อำเภอเมืองฯ จังหวัดลำปาง
10. พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี
พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี ก่อตั้งโดยนายพนาสิน ธนบดีสกุล ทายาทรุ่นที่ 2 ของนายอี้ (ซิมหยู) แซ่ฉิน วัตถุประสงค์ของการตั้งพิพิธภัณฑ์ก็เพื่อรักษาเกียรติประวัติของอาปาอี้ (ซิมหยู) แซ่ฉิน ต้นตระกูลธนบดีสกุล ผู้ค้นพบแร่ดินขาวและก่อตั้งโรงงานเซรามิคแห่งแรกของลำปาง ซึ่งได้รวบรวมเรื่องราวและตำนาน "ชามไก่แห่งธนบดี" หนึ่งเดียวที่ยังคงอนุรักษ์ประวัติศาสตร์แห่งความภาคภูมิใจให้สมกับที่ลำปางเป็นเมืองแห่งเซรามิกของประเทศไทย ภายในพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติของบริษัทในเครือธนบดี ต้นกำเนิดชามไก่ต้นกำเนิดเซรามิกของเมืองลำปาง และสาธิตการผลิตชามไก่แบบโบราณ รวมถึงสามารถชมกระบวนการผลิตเซรามิกสมัยใหม่ได้อย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเซรามิกและศิลปะให้กับผู้ที่สนใจ เปิดให้เช้าชมตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. หยุดทุกวันจันทร์
ที่ตั้ง : เลขที่ 32 ถนนวัดจองคำ ตำบลพระบาท อำเภอเมืองฯ จังหวัดลำปาง