ตลาดน้ำยามเย็นอัมพวา อำเภออัมพวา
ตลาดน้ำยามเย็นอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม อยู่ริมคลองใกล้วัดอัมพวันเจติยาราม เปิดบริการวันศุกร์ เสาร์อาทิตย์ วันนักขัตฤกษ์เวลา 12.00-21.00 น. เป็นตลาดน้ำชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวที่จะไม่พลาดมาชิมของอร่อยที่นี่
ในคลองอัมพวามีพ่อค้าแม่ค้าพายเรือขายอาหารและเครื่องดื่ม เช่น หอยทอด ก๋วยเตี๋ยว กาแฟ โอเลี้ยง ขนมหวานต่าง ๆ และมีรถขายของบนสองฝั่งคลอง บรรยากาศสบาย ๆ มีเพลงฟังจากเสียงตามสายของชุมชน สามารถเช่าเรือเที่ยวชมหิ่งห้อยในยามค่ำคืนได้
ชุมชนริมคลองอัมพวา ได้รับรางวัลชมเชย (Honorable Mention) จากการประกวดรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก แห่งองค์การยูเนสโก ประจำปี พ.ศ.2551 (UNESCO Asia-Pacific Heritage Awards for Culture Heritage Conservation) ซึ่งถือเป็นความสำเร็จในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการอนุรักษ์อาคารเก่าแก่ที่ทรงคุณค่าและมีความงดงามด้านสถาปัตยกรรมและสะท้อนถึงลักษณะสำคัญทางท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยาน ร.2) อำเภออัมพวา
อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยาน ร.2) อำเภออัมพวาจังหวัดสมุทรสงครามเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานศิลปวัฒนธรรมอันงดงามไว้เป็นมรดกแก่ชาติ จนได้รับยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)
พื้นที่อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ประมาณ 11 ไร่ พระราชสมุทรเมธี เจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยารามเป็นผู้น้อมเกล้าฯถวาย สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่พระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2)
ภายในอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ มีสิ่งที่น่าสนใจได้แก่ พิพิธภัณฑ์วิถีไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์อาคารทรงไทย 5 หลัง แบ่งออกเป็นส่วนต่าง ๆ 4 หลัง ดังนี้
- เรือนชาย จัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตของเด็กผู้ชายไทยในอดีตจะถูกส่งไปศึกษากับพระสงฆ์ตามวัด เมื่อเจริญเติบโตจะได้รับราชการ จัดแสดงเกี่ยวกับการละเล่นสมัยโบราณ “หมากสกา” และเครื่องดนตรีไทย
- เรือนกลาง (เรือนประธาน) จัดแสดงออกเป็นห้องต่าง ๆ อาทิห้องพระ ห้องนอน ห้องนวดประคบ และห้องแต่งตัว จำลองถึงวิถีชีวิตของหญิงไทยในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ใช้สิ่งที่ได้จากธรรมชาติมาปรุงเป็นเครื่องสำอางใช้ประทินผิว จัดแสดงศิลปวัตถุสมัยต้นรัตนโกสินทร์ในยุครัชกาลที่ 2 เช่นเครื่องถ้วยเบญจรงค์
- เรือนหญิง จัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตของเด็กหญิงในอดีตที่ศึกษาเล่าเรียนวิชาการบ้านการเรือนและวิชาช่างฝีมืออยู่กับบ้าน เพื่อเตรียมตัวเป็นแม่ศรีเรือนที่ดีในอนาคต
- เรือนกลางน้ำ จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมอัมพวาเดิมเรือนกลางน้ำจัดเป็นหอสมุดพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตั้งอยู่กลางน้ำตามลักษณะหอไตร เพื่อกันปลวกมดทำลายหนังสือ ซึ่งเป็นหอสมุดแบบฉบับของไทยสมัยโบราณ เมื่อปี พ.ศ. 2530 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้หอสมุด จึงได้ก่อสร้างอาคารหลังใหม่แทนและให้ใช้เป็นที่ซ้อมโขนและเก็บเครื่องดนตรีไทย ต่อมาจัดเป็นพิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมอัมพวา จัดแสดงวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำ เอกลักษณ์ของอัมพวา วัด บ้านการดนตรี อาหารและขนม วัฒนธรรม และประเพณีอัมพวา เป็นต้น
นอกจากนี้มีโรงละครกลางแจ้งและสวนพันธุ์ไม้ในวรรณคดีนานาชนิดภายในสวนมีพระที่นั่งสนามจันทร์จำลองและประติมากรรมจากบทพระราช-นิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและมีร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง จำหน่ายพันธุ์ไม้ อุทยาน ร.2 เป็นสถานที่ที่มีความร่มรื่น เหมาะสำหรับเข้าไปเยี่ยมชมบรรยากาศแบบไทยที่ยังคงอนุรักษ์เอาไว้
อุทยานฯเปิดให้เข้าชมวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-17.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.30 - 17.30 น. ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 10 บาท สอบถามข้อมูล โทร. 0 3475 1666, 0 3475 1376 โทรสาร 0 3475 1376
วัดเพชรสมุทรวรวิหาร (วัดหลวงพ่อบ้านแหลม) อำเภอบ้านแหลม
วัดเพชรสมุทรวรวิหารหรือวัดบ้านแหลม อยู่ถนนเพชรสมุทร อยู่ติดกับตลาดบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม เดิมชื่อวัดศรีจำปา เป็นวัดสำคัญของจังหวัด ตามพงศาวดารฉบับราชหัตถเลขา ปี พ.ศ.2307 ข้าศึกยกทัพเข้ามาตีเมืองเพชรบุรี แต่กองทัพของกรุงศรีอยุธยาได้ยกทัพมาช่วยรักษาเมืองไว้ได้ ชาวบ้านแหลมในเขตเมืองเพชรบุรีอพยพหนีข้าศึกมาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณตำบลแม่กลองเหนือวัดศรีจำปา จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านแหลม” ตามชื่อบ้านเดิมของตนในเมืองเพชรและช่วยกันบูรณะวัดศรีจำปา เรียกว่า “วัดบ้านแหลม”
ชาวบ้านแหลมนี้ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นชาวประมง คราวหนึ่งได้ออกไปลากอวนในอ่าวแม่กลองพบพระพุทธรูปติดอวนขึ้นมา 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่ง อีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปยืน พระพุทธรูปนั่งได้นำไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี สำหรับพระพุทธรูปยืนอุ้มบาตร สูงประมาณ 167 เซนติเมตร (แต่บาตรสูญหายไปในทะเล สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธ์วงศ์วรเดชได้ถวายบาตรแก้วสีน้ำเงินไว้ให้) นำไปประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านแหลม เรียกว่า “หลวงพ่อบ้านแหลม” เป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวบ้านทั่วไป มีผู้คนมาทำบุญนมัสการหลวงพ่อบ้านแหลมกันเรื่อยมา ต่อมาวัดนี้ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีวรวิหาร ได้รับพระราชทานนามว่า “วัดเพชรสมุทรวรวิหาร”
ตลาดร่มหุบ ตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม
ตลาดร่มหุบ อยู่ติดกับสถานีรถไฟแม่กลองตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม ตลาดร่มหุบหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ตลาดเสี่ยงตาย” หรือตลาดริมทางรถไฟ ตั้งขายอยู่ริมทางรถไฟใกล้สถานีรถไฟแม่กลอง ความยาวของตลาดประมาณ 100 เมตร บรรดาพ่อค้าแม่ค้าวางขายสินค้าบนพื้นติดกับรางรถไฟ เวลารถไฟมาแม่ค้าต่างหุบร่มที่กางและเก็บสินค้าภายในพริบตา เป็นภาพแปลกตาน่าตื่นเต้น จนเป็นที่มาของชื่อตลาดร่มหุบ สินค้าที่วางขายเป็นผัก ผลไม้ อาหารทะเล เป็นตลาดยอดนิยมของชาวบ้านเพราะราคาถูกและคุณภาพดี เปิดขายทุกวันเวลา 06.00-18.00 น. เวลารถไฟวิ่งผ่านตลาดร่มหุบ วันละ 8 รอบ ดังนี้ 06.20, 08.30, 09.00, 11.10, 11.30, 14.30, 15.30 และ 17.40 น. (ออกและเข้าตามลำดับเวลา)
โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา
โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ใกล้ตลาดน้ำอัมพวา เป็นโครงการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนานำที่ดินที่คุณประยงค์ นาคะวะรังค์ ชาวอัมพวา ได้น้อมเกล้าฯ ถวายมาดำเนินการพัฒนาให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนอัมพวา เพื่อสืบสานภูมิปัญญาชาวบ้านและอนุรักษ์วิถีการดำเนินชีวิตของชาวอัมพวา และ "ชุมชนอัมพวา" เป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเกี่ยวข้องกับความเป็นชาติไทย ซึ่งอนุชนรุ่นหลังสามารถรำลึกมองย้อนถึงภาพอดีตอันรุ่งเรืองถึงความเป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรมและประเพณีที่สะท้อนความเป็นไทยได้อย่างน่าภาคภูมิใจ
โครงการ "อัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์" แบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนต่าง ๆ ประกอบด้วย ภูมิสังคมและพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง สวนสาธิตการเกษตรเพื่อการเรียนรู้ อาทิ สวนมะพร้าวและพืชต่าง ๆ ร้านค้าชุมชน ลานวัฒนธรรมนาคะวะรังค์ ลานสำหรับจัดกิจกรรมและจำหน่ายของที่ระลึกจากชาวอัมพวา ร้านกาแฟอายุกว่า 200 ปี พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านอัมพวาเป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงสิ่งของเครื่องใช้สมัยโบราณที่ค้นพบในอำเภออัมพวา ร้านชานชาลา จำหน่ายเครื่องดื่มและของว่าง
บ้านครูเอื้อ แสดงนิทรรศการประวัติและผลงาน รวมทั้งข้าวของเครืองใช้ของ
ครูเอื้อ สุนทรสนาน หรือสุนทราภรณ์สอบถามข้อมูล โทร. 0 3475 2245 , 0 3475 2199 www.amphawanurak.com
ค่ายบางกุ้ง/โบสถ์ปรกโพธิ์ ตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที
ค่ายบางกุ้ง อยู่หมู่ที่ 4 ตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม บริเวณค่ายเป็นแนวกำแพงจำลองสร้างไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์จากการสู้รบ ค่ายแห่งนี้เป็นค่ายทหารเรือไทยที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ หลังจากเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2310 เนื่องจากเมืองแม่กลองเป็นเส้นทางที่กองทัพข้าศึกใช้ในการเดินทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดฯ ให้กองทัพเรือมาอยู่ที่ตำบลบางกุ้ง เรียกว่า ค่ายบางกุ้ง โดยสร้างกำแพงล้อมวัดบางกุ้งให้อยู่กลางค่ายเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นที่เคารพบูชาของทหาร
พระเจ้าตากสินมหาราชโปรดฯ ให้ชาวจีนจากระยอง ชลบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี รวบรวมผู้คนมาตั้งเป็นกองทหารรักษาค่าย ค่ายนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนี่งว่า ค่ายจีนบางกุ้ง พระองค์ทรงให้ชื่อทหารเหล่านี้ว่า “ทหารภักดีอาสา” ในปี พ.ศ.2311 พระเจ้ากรุงอังวะทรงยกทัพผ่านกาญจนบุรี มาล้อมค่ายจีนบางกุ้ง พระเจ้าตากสินมหาราชและพระมหามนตรี (บุญมา) ร่วมรบขับไล่กองทัพข้าศึกจนแตกพ่าย นับเป็นค่ายทหารไทยที่สร้างความเกรงขามให้กองทัพข้าศึก สร้างขวัญกำลังใจคนไทยให้กลับคืนมา และเป็นสงครามครั้งแรกที่ไทยทำกับพม่าหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ค่ายบางกุ้งแห่งนี้ถูกปล่อยให้ร้างเกือบ 200 ปี จนมาถึงปี พ.ศ.2510 กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ตั้งเป็นค่ายลูกเสือขึ้น เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จเจ้าตากสินมหาราชและได้สร้างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไว้เป็นอนุสรณ์ โดยทำพิธียกศาลเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2511 ภายในบริเวณค่ายมีโบสถ์ที่สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ชาวบ้านเรียกว่า “โบสถ์หลวงพ่อดำ” มีลักษณะพิเศษคือ โบสถ์ทั้งหลังปกคลุมด้วยต้นไม้ถึงสี่ชนิด คือ ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นไกร ต้นกร่าง ชาวบ้านเรียกว่า “โบสถ์ปรกโพธิ์” และไม่ไกลนักเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ดอนหอยหลอด
เป็นสันดอนตั้งอยู่ปากแม่น้ำแม่กลอง เกิดจากการตกตะกอนของดินปนทราย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ทรายขี้เป็ด” ดอนหอยหลอดมีอาณาบริเวณกว้างประมาณ 3 กิโลเมตร ยาว 5 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ของดอนนอกปากอ่าวแม่กลอง เดินทางไปได้โดยเรือเท่านั้น มีเรือขนาดต่าง ๆ บริการจากท่าริมน้ำแม่กลอง หน้าวัดบ้านแหลม
ดอนใน อยู่ที่ชายหาดหมู่บ้านฉู่ฉี่ ตำบลบางจะเกร็ง สามารถใช้เส้นทางสาย ธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม2) ประมาณกิโลเมตรที่ 64 ก่อนข้ามสะพานพุทธเลิศหล้านภาลัย เชิงสะพานมีป้ายบอกทางเข้าดอนหอยหลอดระยะทาง 5 กิโลเมตร
ชายหาดหมู่บ้านบางบ่อ ตำบลบางแก้ว สามารถเดินทางไปได้ทางรถยนต์ ใช้เส้นทางสายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม2) ก่อนถึงหลักกิโลเมตรที่ 62 มีป้ายซ้ายบอกทางเข้าดอนหอยหลอดอีก 7 กิโลเมตร
บริเวณสันดอนมีหอยอาศัยอยู่หลายชนิด ได้แก่ หอยหลอด หอยลาย หอยปุก หอยปากเป็ด หอยแครง แต่พบว่าหอยหลอดมีจำนวนมากที่สุด จึงเป็นจุดเด่นของที่แห่งนี้ หอยหลอดเป็นหอยชนิด 2 ฝา ตัวสีขาวขุ่น เปลือกคล้ายหลอดกาแฟฝังตัวอยู่ในเลน การจับหอยหลอดจะจับในช่วงน้ำลงโดยใช้ไม้เล็ก ๆ ขนาดก้านธูป จุ่มปูนขาว แล้วแทงลงไปในรูหอยหลอด หอยจะเมาปูนแล้วโผล่ขึ้นมา ไม่ควรสาดปูนขาวลงบนสันดอน เพราะจะทำให้หอยที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นตายหมด ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมเหมาะที่จะท่องเที่ยวมากที่สุดเพราะน้ำทะเลลดลงนานกว่าช่วงเวลาอื่นและสามารถมองเห็นสันดอนโผล่ขึ้นมา นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเรือบริเวณศาลาอาภร ใกล้ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เพื่อไปชมจุดต่าง ๆ ดังนี้
ชมดอนหอยหลอด คนละ 20 บาทหรือเหมาลำๆ ละ 120 บาท (ไม่เกิน 6 คน)
ชมปากอ่าว ลำละ 200 บาท (ไม่เกิน 4 คน) ชมทิวทัศน์ป่าชายเลน ลำละ 400 บาท (ไม่เกิน 7 คน)
นักท่องเที่ยวสามารถสอบถามเวลาน้ำขึ้น–น้ำลง ได้ที่ อบต.บางจะเกร็ง โทร. 0 3472 3749 มูลนิธิศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ โทร. 0 3472 3736
บริเวณดอนหอยหลอดยังเป็นที่ประดิษฐานศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่สนามหญ้าด้านหน้ามีการแสดงดนตรีไทยทุกวันเสาร์ เวลา 15.00-16.30 น. นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารและร้านขายสินค้าของที่ระลึกหลายร้านเรียงรายบริเวณดอนหอยหลอด ขายอาหารทะเลสด-แห้งหอยหลอดสด-แห้ง น้ำปลา กะปิคลองโคน น้ำตาลปึก น้ำตาลสด ฯลฯ
ชุมชนบ้านบางพลับ ตำบลบางพรม อำเภอบางคนที
ศูนย์ท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์บ้านบางพลับ หมู่ที่ 4 ตำบลบางพรม อำเภอบางคนที เป็นชุมชนที่ได้รับรางวัลทางการท่องเที่ยวมากมาย มีฐานเรียนรู้กิจกรรมปั่นจักรยานชมสวน ชมบ้านพญาซอ ชมการทำน้ำตาลมะพร้าว การเผาถ่านผลไม้ การทำผลไม้กลับชาติ เป็นต้น สอบถามข้อมูล โทร. 0 3476 1985, 08 1274 4433 (คุณโต้ง)
ตลาดน้ำบางน้อย ตำบลกระดังงา อำเภอบางคนที
ตลาดน้ำบางน้อย อยู่ปากคลองบางน้อย วัดเกาะแก้ว ตำบลกระดังงา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงตราม อยู่ห่างจากอุทยาน ร.2 อำเภออัมพวาประมาณ 5 กิโลเมตร ชุมชนปากคลองบางน้อยหรือบางน้อยนอกเคยเป็นย่านการค้าทางน้ำที่สำคัญมากจุดหนึ่งในลุ่มน้ำแม่กลอง เมื่อประมาณ 40 ปีก่อน มาถึงวันนี้ ตลาดน้ำบางน้อยได้เปิดขายของวันเสาร์-อาทิตย์เวลา 08.00-17.00 น. สินค้าที่จำหน่ายมีทั้งผลผลิตทางการเกษตรจากชาวสวน รวมทั้งอาหารคาวหวานอันขึ้นชื่อของสมุทรสงคราม อย่างกะปิคลองโคลน และมะนาวดองโรตีแต้จิ๋ว เจ๊เรณูเจ้าเดียวที่ยังเหลืออยู่ในตลาดน้ำบางน้อย สามารถเดินเลียบคลองชมบรรยากาศบ้านไม้เก่าแก่ และร้านค้าต่าง ๆ ที่เรียงรายริมคลองบางน้อยได้อย่างเพลิดเพลิน
ตลาดน้ำท่าคา ตำบลท่าคา อำเภออัมพวา
ตลาดน้ำท่าคา ตำบลท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ยังคงความเป็นธรรมชาติของวิถีชีวิตชาวบ้านซึ่งพายเรือนำผลผลิต พืชผักและผลไม้จากสวน เช่น พริก หอม กระเทียม น้ำตาลมะพร้าว ฝรั่ง มะพร้าว ชมพู่ ส้มโอมาขายเฉพาะในวันขึ้นหรือแรม 2 ค่ำ 7 ค่ำ 12 ค่ำ (ทุก 5 วัน) และวันเสาร์-อาทิตย์เวลา 08.00–12.00 น. และวันนักขัตฤกษ์ เวลา 06.00-14.00 น. สามารถติดต่อเช่าเรือพายเที่ยวชมหมู่บ้านและเรือกสวนผลไม้ในบริเวณนั้นได้ สอบถามข้อมูลได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าคา โทร. 0 3475 3728