รายละเอียด
1.พิพิธภัณฑ์สิรินธร อำเภอสหัสขันธ์
พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดในอาเซียน จัดแสดงการกำเนิดโลก จักรวาลและสิ่งมีชีวิต วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตและยุคของไดโนเสาร์จนถึงการกำเนิดมนุษย์ ห้องปฏิบัติการวิจัยและศึกษาฟอสซิลไดโนเสาร์ที่สามารถชมการทำงานของนักวิจัยได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังมีหลุดขุดค้นจริงที่สามารถชมซากฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่” ไดโนเสาร์สกุลใหม่ของโลกที่ค้นพบเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย ซึ่งมีสภาพสมบูรณ์เกือบทั้งตัว
2.ตลาดโรงสี อำเภอเมือง
แหล่งชอปปิงและแหล่งรวบรวมร้านค้าอาหารท้องถิ่นอันมีเอกลักษณ์ ได้แก่ ข้าวจี่ไดโนเสาร์ ปาท่องโก๋ไดโนเสาร์ และโรตีไดโนเสาร์ เป็นต้น และเป็นพื้นที่แสดงดนตรี งานศิลปะ และการแสดงในโอกาสต่าง ๆ เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 21.00 น.
3.วัดพุทธนิมิต (ภูค่าว) อำเภอสหัสขันธ์
มีสถาปัตยกรรมและศิลปวัตถุที่งดงาม ได้แก่ “พระพุทธไสยาสน์” เก่าแก่ ลักษณะตะแคงซ้าย ไม่มีเกตุมาลา, “อุโบสถไม้” สร้างจากไม้ใต้เขื่อนลำปาว แกะสลักลวดลายงดงามเป็นภาพสามมิติ และภาพนูนต่ำ, “วิหารสังฆนิมิต” ที่เก็บพระพุทธรูปและพระเครื่องรุ่นต่าง ๆ ที่หายาก, “พระมหาธาตุเจดีย์พุทธนิมิต” เจดีย์ยอดทองคำหนัก 30 กิโลกรัม ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุจาก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินเดีย ศรีลังกา เนปาลและพม่า
4.วัดวังคำ อำเภอเขาวง
เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมในรูปแบบศิลปะล้านช้างให้ได้ชมอย่างหลากหลาย ทั้ง สิมไทเมืองวัง อุโบสถรูปทรงศิลปะล้านช้างที่มีความอ่อนช้อยงดงาม, พระธาตุเจ้ากู และศาลาการเปรียญซึ่งภายในเป็นที่ประดิษฐานของ “หลวงปู่วังคำ” พระประธานศิลปะล้านช้างที่งดงาม พร้อมทั้งธรรมมาสน์ซึ่งสร้างตามแบบดั้งเดิมตามที่เจ้าอาวาสผู้สร้างเคยเห็นเมื่อครั้งเป็นเด็ก
5.หลวงพ่อองค์ดำ วัดกลาง อำเภอเมือง
พระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 20 นิ้ว มีพุทธลักษณะงดงาม หากปีใดฝนแล้งชาวเมืองจะอัญเชิญออกแห่เพื่อขอฝน
6.พระธาตุยาคู อำเภอกมลาไสย
เจดีย์โบราณทรงแปดเหลี่ยมก่อด้วยอิฐ ปรากฏการก่อสร้าง 3 สมัยด้วยกัน คือ ส่วนฐานสร้างในสมัยทวารวดี ถัดขึ้นมาเป็นฐานรูปแปดเหลี่ยมซึ่งสร้างซ้อนทับบนฐานเดิมเป็นรูปแบบเจดีย์ในสมัยอยุธยา ส่วนองค์ระฆังและส่วนยอดสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ รอบ ๆ องค์พระธาตุพบใบเสมาแกะสลักภาพนูนต่ำเรื่องพุทธประวัติ ชาวบ้านเชื่อกันว่าในองค์พระธาตุบรรจุอัฐิของพระเถระผู้ใหญ่ที่ชาวเมืองเคารพนับถือ
7.หมู่บ้านทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน อำเภอคำม่วง
หมู่บ้านวัฒนธรรมชนเผ่าผู้ไทย ซึ่งเป็นแหล่งทอผ้าไหมแพรวาอันละเอียดประณีต มีชื่อเสียงระดับประเทศ ได้ชื่อว่าเป็น “ราชินีแห่งไหม” ซึ่ง “แพร” หมายถึง ผ้า และ “วา” คือ ความยาวของผ้า 1 วา “แพรวา” จึงมีความหมายรวมกันว่า “ผ้าทอผืนที่มีความยาว 1 วา หรือ 1 ช่วงแขน” ซึ่งเดิมการทอผ้าไหมแพรวาเป็นเพียงวิถีชีวิตของชาวผู้ไทยที่ทอใช้เป็นผ้าสไบเท่านั้น จนกระทั่งในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรที่อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ทอดพระเนตรเห็นผ้าไหมแพรวา ทรงสนพระทัย
8.หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทยบ้านโคกโก่ง อำเภอกุฉินารายณ์
แหล่งเรียนรู้วิถีประเพณีของชนเผ่าผู้ไทย เช่น การประกอบพิธีหมอเหยา (การรักษาโรคโดยใช้พิธีกรรมตามความเชื่อ) งานหัตถกรรมเสื้อผู้ไทยเย็บมือ งานจักสานไม้ไผ่ การเย็บขันหมากเบ็ง การแสดงดนตรีและวัฒนธรรมผู้ไทย เป็นต้น
9.หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทยบ้านกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์
แหล่งเรียนรู้งานหัตถกรรมฝีมือการทำมาลัยไม้ไผ่อันประณีตงดงาม ซึ่งผูกโยงกับงานประเพณีบุญข้าวสากและบุญข้าวประดับดินตามวิถีประเพณีฮีตสิบสองของชาวอีสาน อีกทั้งเป็นแหล่งกำเนิดประเพณีบั้งไฟตะไลล้านขนาดใหญ่แห่งเดียวในประเทศไทยด้วย
10.ชุมชนไดโนโรด อำเภอสหัสขันธ์
ตั้งอยู่ใกล้พิพิธภัณฑ์สิรินธร เป็นชุมชนที่เกิดจากการรวมตัวกันของชาวอำเภอสหัสขันธ์เพื่อสร้างกิจกรรมทางการท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้แก่ การเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับการเป็นแหล่งค้นพบไดโนเสาร์ที่สำคัญของประเทศ เช่น การทอเสื่อกกลายไดโนเสาร์ การทำขนมเล็บไดโนเสาร์ การแสดงรำวงคองก้า เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งชอปปิงสินค้าฝีมือชุมชนที่หลากหลายอีกด้วย