ฉะเชิงเทรา
- วัดโสธรวรารามวรวิหาร หรือวัดหลวงพ่อโสธร เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อพุทธโสธร”
- วัดปากน้ำ (โจ้โล้) มีโบสถ์สีทองทั้งหลัง ทั้งด้านนอกและด้านใน
- อุทยานพระพิฆเนศคลองเขื่อน มีพระพิฆเนศสำริดแบบยืนองค์ใหญ่ที่สุดในโลก
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน แหล่งอาศัยสุดท้ายของจระเข้น้ำจืดในเมืองไทย
- ตลาดน้ำบางคล้า ตลาดนี้เน้นขายอาหาร เป็นตลาดริมน้ำที่สะอาด จัดร้านและที่นั่งอย่างมีระเบียบ
เมื่อพูดถึงจังหวัดฉะเชิงเทรา เมืองเก่าแก่ริมแม่น้ำบางปะกง ที่นิยมเรียกกันว่า "แปดริ้ว" คนมักจะนึกถึงพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดนี้ คือ "หลวงพ่อโสธร" พระพุทธรูปสำคัญของเมืองไทยองค์หนึ่ง
นอกจากนี้จังหวัดฉะเชิงเทรายังมีชื่อเสียงในเรื่องมะม่วง ช่วงฤดูมะม่วงออกผลจะมีการจัดงานวันมะม่วงทุกปี
ปัจจุบันจังหวัดฉะเชิงเทรามีการสร้างศาสนสถานอย่างยิ่งใหญ่หลายแห่ง และยังมีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลาง มีอาณาเขตติดกับกรุงเทพฯ มีพื้นที่ประมาณ 5,351 ตารางกิโลเมตร เป็นดินแดนเก่าแก่ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าถือกำเนิดขึ้นเมื่อไร แต่จากการสำรวจและขุดค้นตามแหล่งอารยธรรมสำคัญโดยนักโบราณคดี ทำให้รู้ว่าพื้นที่นี้เคยเป็นที่อยู่ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในช่วงหลายพันปีที่ผ่านมา สันนิษฐานว่า ในยุคนั้น ฉะเชิงเทราเป็นดินแดนสำคัญแห่งหนึ่งทางด้านชายฝั่งทะเลตะวันตะวันออก
ชื่อฉะเชิงเทราปรากฏเป็นครั้งแรกในพระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเป็นเมืองเก่าแก่ตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีฐานะเป็นเมืองจัตวา หรือหัวเมืองชั้นใน จนถึงรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์ทรงใช้ฉะเชิงเทราเป็นที่รวบรวมไพร่พล และยังทรงใช้เป็นเมืองหน้าด่านอีกด้วย
ครั้นล่วงมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ฉะเชิงเทราเป็นเมืองที่ขึ้นอยู่ในสังกัดกรมพระกลาโหม และย้ายมาอยู่ในสังกัดกรมมหาดไทย จนกระทั่งถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองแผ่นดิน ฉะเชิงเทราจึงเปลี่ยนฐานะเป็นเมืองเมืองหนึ่งในมณฑลปราจีนบุรี ร่วมกับเมืองนครนายก พนมสารคาม พนัสนิคม ชลบุรี และบางละมุง จนถึง พ.ศ. 2459 จึงได้ยกรับการฐานะขึ้นเป็นจังหวัด
จากยุคก่อนประวัติศาสตร์ล่วงเลยมาจนถึงทุกวันนี้ ฉะเชิงเทรานับว่าเป็นดินแดนแห่งการเพาะปลูก เพราะมีดินตะกอนอันสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุ รวมทั้งอุดมด้วยแหล่งน้ำ โดยมีแม่น้ำบางปะกงเป็นดั่งเส้นเลือดใหญ่ของจังหวัด ชาวบ้านส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำและริมลำคลองสาขาย่อย โดยประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่
สำหรับชื่อ “ฉะเชิงเทรา” นั้น สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากภาษาเขมร ซึ่งเคยมีอำนาจการปกครองในพื้นที่นี้ในช่วงอาณาจักรลพบุรี โดยมาจากคำว่า “สตรึงเตรา” แปลว่า “คลองลึก” แต่ก็มีข้อสันนิษฐานอื่นว่า น่าจะมาจากชื่อเมือง “แสงเซรา” หรือ “แซงเซา” ที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชแห่งอาณาจักรอยุธยา เสด็จไปตีเมืองได้ตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์
ส่วนชื่อ “แปดริ้ว” คาดว่าน่าจะมาจากขนาดตัวอันใหญ่โตของปลาช่อน ที่เมื่อนำมาแล่แล้วได้จำนวนถึง 8 ริ้ว มากกว่าปลาช่อนในพื้นที่อื่นที่แล่ได้แค่ 4-6 ริ้วเท่านั้น อีกที่มาหนึ่ง เล่าว่าชื่อแปดริ้วได้มาจากนิทานพื้นบ้านเรื่อง “พระรถ-เมรี” ที่ยักษ์ฆ่านางสิบสองแล้วชำแหละศพเป็นชิ้น ๆ รวม 8 ริ้ว ก่อนนำไปทิ้งในลำน้ำท่าลาด
จังหวัดฉะเชิงเทราแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา อำเภอบางคล้า อำเภอบางน้ำเปรี้ยว อำเภอบางปะกง อำเภอบ้านโพธิ์ อำเภอพนมสารคาม อำเภอราชสาส์น อำเภอสนามชัยเขต อำเภอแปลงยาว อำเภอท่าตะเกียบ และอำเภอคลองเขื่อน