รายละเอียด
อุทยานธรณีสตูล...
อุทยานธรณีโลกแห่งแรกในประเทศไทย
“คมฉาน ตะวันฉาย”...เรื่อง
ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ “คมฉาน ตะวันฉาย”...ภาพ
ในปี พ.ศ.๒๕๖๑ ประเทศไทยเรามีสถานที่ระดับโลกเพิ่มขึ้นมา เป็นแห่งแรกที่ไม่เคยมี ไม่เคยได้มาก่อน นั่นคือ “อุทยานธรณีโลก” ซึ่งองค์การสหประชาชาติ (UNESCO) ให้การรับรองพื้นที่นั้นให้เป็นเสมือนมรดกโลก มีศักดิ์ศรีเหมือนพื้นที่มรดกโลกอื่น ๆ เช่นที่เราเคยมีป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง หรือดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เคยมีอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กำแพงเพชร หรือพระนครศรีอยุธยาเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
แต่นี่เป็นมรดกโลกทางด้านธรณีวิทยา โดยเขาใช้คำว่า UNESCO Global Geoparks
จากทั่วโลก ๑๙๓ ประเทศ มีเพียง ๓๘ ประเทศ ที่มีอุทยานธรณีในระดับโลก และใน ๓๔ ประเทศที่ว่านี้ มีอุทยานธรณีทั้งสิ้นแค่ ๑๔๐ แห่งเท่านั้น ในเอเชีย จีนเป็นประเทศที่มีอุทยานธรณีโลกมากที่สุด คือ ๒๕ แห่ง ส่วนในอาเซียน ประเทศที่ได้อุทยานธรณีในระดับโลกก่อนหน้านี้ คือ มาเลเซีย มี ๑ แห่ง เวียดนาม มี ๒ แห่ง อินโดนีเซียมี ๔ แห่ง และสตูลของประเทศไทยเราเพิ่งได้มา ๑ แห่ง รวมเป็นแห่งที่ ๘ ของอาเซียนล่าสุด (ข้อมูลเมื่อ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๑)
โดยกระบวนการกว่าที่จะได้เป็น “อุทยานธรณีโลก (UNESCO Global Geopark)” นั้น จะต้องผ่านการเป็นอุทยานธรณีที่มีอยู่ ๓ ระดับ คือ อุทยานธรณีระดับจังหวัด อุทยานธรณีระดับประเทศ ในสองระดับนี้มีคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาทำการประเมิน เมื่อเห็นว่ามีความพร้อมจึงส่งรายชื่อเข้าสู่การพิจารณาของยูเนสโกเพื่อเป็นอุทยานธรณีระดับโลก โดยจะส่งเจ้าหน้าที่มาประเมินเป็นระยะ ๆ ซึ่งหากยังมีอะไรที่ไม่เข้ากฎเกณฑ์ ทางเจ้าหน้าที่ก็จะแนะนำให้ปรับปรุงแก้ไข เพื่อรับการประเมินในครั้งต่อ ๆ ไป ซึ่งอุทยานธรณีโลก หรือ UNESCO Global Geoparks นี้ จะมีการประเมินและประกาศผลกันทุก ๆ ปี (โดยจะมี Timeline ว่าช่วงไหนยื่นใบสมัคร ช่วงไหนรับพิจารณา และช่วงไหนมาประเมิน)
เขตข้ามกาลเวลา ณ เขาโต๊ะหงาย อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา รอยสัมผัสระหว่างหินสองยุค คือ หินทรายแดงยุคแคมเบรียนด้านล่างกับหินปูน ยุคออร์โดวิเชียนด้านบนที่มองเห็นได้ชัดเจน หาดูชมได้ยาก
(1)ปรากฏการณ์ที่หินปูนคดโค้งเพราะถูกดันจากแผ่นเปลือกโลก จนกระทั่งชั้นที่ตกตะกอนแสดงตัวออกมาอย่างชัดเจน
(คมฉาน ตะวันฉาย...ภาพ)
(2)ปรากฏการณ์ธรรมชาติแนวสันทรายที่โผล่ขึ้นเป็นแนวราวกับสันหลังมังกร บนเกาะลิดี อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา
พื้นที่อย่างไรจึงจะเป็นอุทยานธรณีได้
แน่นอนว่าสิ่งหนึ่งนั้นต้องมีความโดดเด่นทางด้านธรณีที่ชัดเจนแน่นอน อาจจะเป็นธรณีสัณฐานที่มีความโดดเด่น หรือเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่มีความสำคัญ หรืออื่น ๆ แต่ไม่เพียงเท่านั้น อุทยานธรณียังครอบคลุมไปถึงวิถีชีวิต ผู้คน วัฒนธรรม และธรรมชาติอื่น ๆ ในอาณาบริเวณเดียวกันด้วย โดยพื้นที่ซึ่งจะประกาศให้เป็นอุทยานธรณีนั้นอาจจะครอบคลุมแหล่งชุมชน อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ผืนป่า หรือท้องทะเลได้ทั้งสิ้น ขอเพียงแต่ให้สิ่งที่เป็นองค์ประกอบเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกัน เพราะขอบเขตพื้นที่เป็นเพียงการประกาศให้รู้ว่าพื้นที่ตรงไหนที่ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานธรณี หาได้ประกาศแล้วจัดทำเป็นพื้นที่พิเศษหรือมีการจัดการแตกต่างจากสถานภาพเดิมแต่อย่างใด บางครั้งเราจึงเห็นพื้นที่อุทยานธรณีในระดับจังหวัดหรือระดับประเทศหลายแห่งประกาศทับพื้นที่ที่ว่าการอำเภอ ไร่นาเรือกสวน พื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้โดยไม่มีความขัดแย้งแต่อย่างใด
สำหรับอุทยานธรณีสตูลนั้น ได้ประกาศขอบเขตพื้นที่คลุมใน ๔ อำเภอของจังหวัดสตูล คือ อำเภอทุ่งหว้า อำเภอมะนัง อำเภอละงู และบางส่วนของอำเภอเมืองฯ โดยประกาศคลุมพื้นที่ของ ๒ อุทยานแห่งชาติไปด้วย คือ อุทยานแห่งชาติตะรุเตาและอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา โดยมีที่ทำการอุทยานธรณีสตูลอยู่ในบริเวณเดียวกันกับองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้าและที่ว่าการอำเภอทุ่งหว้านั่นเอง
ย้อนประวัติทุ่งหว้า ก่อนมาเป็นอุทยานธรณีสตูล
แท้จริงแล้วการได้เป็นมรดกโลกทางธรณีของอุทยานธรณีสตูลมีจุดเริ่มต้นจากความบังเอิญ โดยแต่เดิมพื้นที่อำเภอทุ่งหว้าเป็นแค่อำเภอทางผ่านของผู้คนที่เดินทางมาจากอำเภอละงูเพื่อจะไปตัวเมืองสตูล แม้ว่าในอดีตทุ่งหว้าจะเคยเป็นเมืองท่าชื่อเมืองสุไหงอุเป ที่พ่อค้าทางเรือจะนำเรือล่องเข้ามาตามปากแม่น้ำเพื่อขายสินค้าที่บรรทุกมา พร้อมกับรับซื้อสินค้าทางการเกษตรลงเรือไปค้าขายต่อ แล้วก็เช่นเดียวกับเมืองท่าติดทะเลทั้งหลาย ที่นานวันเข้าก็สร้างโกดังเก็บสินค้าจนกระทั่งลงหลักปักฐาน จนอำเภอทุ่งหว้าเป็นอำเภอหนึ่งที่มีคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยกันอยู่มาก โดยปลูกสร้างตึกแถวลักษณะสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า “โคโลเนียลสไตล์” อยู่กันเป็นแถวเรียงรายริมถนนสายสำคัญในย่านชุมชนทุ่งหว้า
แต่ทุ่งหว้าก็หลีกไม่พ้นความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยไปได้ เมื่อหมุดหมายปลายทางของคนมาสตูลคือลงไปเที่ยวเกาะตะรุเตา ถนนที่เชื่อมจากอำเภอหาดใหญ่สู่รัตภูมิและอำเภอละงู เพื่อลงเรือไปหลีเป๊ะ ตะรุเตา ได้ตัดอำเภอทุ่งหว้าและตัวจังหวัดสตูลออกจากเส้นทางโดยสิ้นเชิง
ชุมชนอาคารร้านค้าที่เคยคึกคักจากการค้าขายทางเรือกลับเงียบเชียบ อาคารโคโลเนียลหลายแห่งถูกรื้อถอนเพื่อปลูกสร้างอย่างอื่น บ้างก็ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ปัจจุบันคงหลงเหลืออยู่ไม่มากในย่านสี่แยกตลาดทุ่งหว้า เพื่อยืนยันว่าทุ่งหว้าในอดีตไม่ได้เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนแต่อย่างใด หากเคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อนเช่นกัน
จนกระทั่งการค้นพบที่นำมาสู่การจัดตั้งเป็นอุทยานธรณีสตูล ที่ทำให้ชื่อของอำเภอทุ่งหว้าหวนกลับมาเป็นที่รับรู้ของผู้คนอีกครั้งหนึ่ง
(1)เส้นทางล่องเรือภายในถ้ำอันมืดมิด เต็มไปด้วยร่องรอยทางธรณีวิทยาที่งดงาม ทำให้ผู้มาเยือนตื่นตาตื่นใจ
(2)หุ่นจำลองของช้างสเตโกดอนที่เคยอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ ตั้งอยู่ตรงบริเวณปากทางเข้าถ้ำเลสเตโกดอน
อุทยานธรณีจากความบังเอิญ
การอุบัติขึ้นบางอย่างก็ต้องอาศัยดวงหรือช่วงจังหวะและองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างเช่นกัน ดูได้จากถ้ำวังกล้วยในภูเขาหินปูนที่โดดเด่นในเขตอำเภอทุ่งหว้า ร้อยวันพันปีลำห้วยวังกล้วยที่ไหลมาจากทางตะวันออกค่อย ๆ กัดเซาะภูเขาหินปูนจนกลายเป็นโพรง ไหลตลอดไปตามแนวยาวของภูเขานับกิโลเมตร ก่อนจะไหลทะลุภูเขาไปออกรวมกับลำคลองน้ำกร่อยที่เชื่อมยาวกับทะเลกว้าง เรียกขานอุโมงค์น้ำลอดแห่งนี้ว่าถ้ำวังกล้วย ตามชื่อลำห้วยสายน้ำธรรมชาติ ชาวบ้านก็ได้อาศัยดักปลา จับกุ้ง ในคลองวังกล้วยเป็นแบบนี้มานับร้อยพันหมื่นปี
จนวันหนึ่งมีชาวบ้านไปจับกุ้งในถ้ำ แล้วไปเจอวัตถุประหลาด ลักษณะคล้ายฟันกรามของช้างอยู่บนลานทรายในถ้ำ จึงนำออกมาและคาดเดากันไปต่าง ๆ นานาว่ามันคืออะไร จนนายณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ นายกเทศมนตรีองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้า ส่งเจ้าสิ่งที่พบเห็นนั้นให้นักวิชาการกรมทรัพยากรธรณีตรวจสอบ แล้วได้คำตอบว่าสิ่งปริศนานั้นคือฟันกรามของช้างสเตโกดอน ที่มีอายุอยู่ในช่วงสมัยไมโอซีน ในยุคเทอร์เชียรีของมหายุคซีโนโซอิก (อายุประมาณ ๖๕-๒ ล้านปี) เป็นช้างโบราณที่ในปัจจุบันนี้ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่าดินแดนที่เป็นจังหวัดสตูลในปัจจุบันนี้อย่างน้อยเคยมีช้างสเตโกดอนอยู่อาศัยมาเมื่อช่วง ๖๕-๒ ล้านปีก่อน
และนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่กรมทรัพยากรธรณีให้ความสนใจในพื้นที่แห่งนี้ จึงส่งนักธรณีมาสำรวจพื้นที่ และพบคลังคุณค่าแห่งพื้นดินที่มีซากดึกดำบรรพ์ในยุค ๕๐๐ ล้านปีก่อนมากมาย
อบต.ทุ่งหว้าได้จัดสร้างอาคารเล็ก ๆ ขึ้นในบริเวณเดียวกันกับที่ทำการ อบต.ทุ่งหว้า ใช้เป็นศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า เพื่อเก็บรวบรวมเรื่องราวของช้างโบราณต่าง ๆ และเก็บฟันกรามช้างสเตโกดอนที่พบไว้ในอาคารนี้ด้วย โดยทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทอดพระเนตร เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาทรงพระราชกรณียกิจในพื้นที่อำเภอทุ่งหว้า เมื่อปี ๒๕๕๒ อีกด้วย
แล้วอุทยานธรณีสตูลมีอะไรโดดเด่น จึงสามารถไต่เต้าไปจนเป็นอุทยานธรณีโลกได้
จากการสำรวจของนักธรณีวิทยาจากกรมทรัพยากรธรณีที่ได้ลงมาสำรวจพื้นที่แห่งนี้อย่างจริงจังทำให้ได้รู้ว่า พื้นที่ของจังหวัดสตูลและพื้นที่ใกล้เคียงนั้นมีอายุประมาณ ๕๐๐ ล้านปีล่วงมาแล้ว มีอายุเก่าแก่ในตารางธรณีกาล เป็นแผ่นดินที่เคลื่อนตัวขึ้นมาจากใต้ทะเล โดยถูกปรากฏการณ์ของเปลือกโลกนำพาให้พื้นดินที่เคยอยู่ในทะเลลึกได้ขึ้นมาพบกับอากาศ กลายเป็นพื้นดินในปัจจุบัน
หินงอกหินย้อยอันงดงามถูกสาดส่องด้วยแสงไฟหลากสีที่เปิดปิดอัตโนมัติ ทำให้เห็นรูปทรงลวดลายชัดเจน
แตกต่างจากการส่องดูด้วยไฟฉาย
ตารางธรณีกาลไขข้อข้องใจในพื้นที่อุทยานธรณี
ในช่วงชีวิตของคนเราราว ๘๕ ปีนับว่าน้อยนิดมากเมื่อเทียบกับการก่อเกิดของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บนโลก เราอนุมานอายุของพื้นดินจากซากฟอสซิลที่ปรากฏ เราไม่อาจเข้าใจความเป็นมาของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บนโลกได้เลย ถ้าไม่มีตารางธรณีกาล โดยตารางธรณีกาลนั้นเขาจะนับจากช่วงเวลาที่นานที่สุด แล้วจึงนับใกล้ปัจจุบันเข้ามาเรื่อย ๆ ตามลำดับ
ตารางธรณีกาลนั้น ได้แบ่งช่วงเวลาต่าง ๆ (ในยุคต่าง ๆ นั้นแบ่งกันโดยยึดถือเอาการก่อเกิด หรืออุบัติขึ้นใหม่และสูญดับของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ) ตั้งแต่เก่าแก่สุดมาจนยุคปัจจุบันเป็น ๔ มหายุค คือ
๑. มหายุคพรีแคมเบรียน โดยในยุคนี้นับเอาตั้งแต่โลกเริ่มอุบัติเมื่อ ๔,๕๐๐ ล้านปี มาจนถึงอายุ ๒,๕๐๐ ล้านปี โดยมียุคอาร์เคียน ยุคนี้มีแบคทีเรียและพวกสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินเกิดขึ้น จาก ๒,๕๐๐ ล้านปีมาจนถึง ๕๔๒ ล้านปี เป็นยุคโพรเทอโรโซอิก ยุคนี้สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กพวกนี้อาศัยในทะเล แล้วก็หมดมหายุคพรีแคมเบรียนเข้าสู่มหายุคใหม่
๒. มหายุคพาลิโอโซอิก มหายุคนี้จะมีทั้งหมด ๖ ยุค ซึ่งอยากให้จำมหายุคนี้ให้ดี เพราะคือจุดก่อเกิดและหลักฐานทางธรณีทั้งหมดของอุทยานธรณีสตูลแห่งนี้
มหายุคนี้เริ่มตั้งแต่
ยุคแคมเบรียน (ประมาณ ๕๔๒-๔๘๘ ล้านปี)
ยุคออร์โดวิเชียน (๔๘๘-๔๔๔ ล้านปี)
ยุคไซลูเรียน (๔๔๔-๔๑๖ ล้านปี)
ยุคดิโวเนียน (๔๑๖-๓๕๙ ล้านปี)
ยุคคาร์บอนิเฟอร์รัส (๓๕๙-๒๙๙ ล้านปี)
ยุคเพอร์เมียน ( ๒๙๙-๒๕๑ ล้านปี)
สรุปก็คือในมหายุคนี้เป็นยุคของสัตว์ทะเลโบราณและสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทะเล จนมาสิ้นสุดมหายุคนี้เมื่อเริ่มมีสัตว์เลื้อยคลานและแมลงปีกแข็งเกิดขึ้น สัตว์ทะเลโบราณที่อยู่มาก่อนนับร้อย ๆ ล้านปีนั้นเริ่มสูญพันธุ์ไป
๓. มหายุคมีโซโซอิก มหายุคนี้มี ๓ ยุคคือ
ยุคไทรแอสสิก (๒๕๑-๒๐๐ ล้านปี)
ยุคจูแรสสิก (๒๐๐-๑๔๕ ล้านปี)
ยุคครีเตเชียส (๑๔๕-๖๕ ล้านปี)
มหายุคนี้หลายคนคงคุ้นเคยชื่อ เพราะพอเริ่มมีสัตว์เลื้อยคลานในปลายมหายุคพาลิโอโซอิก ไดโนเสาร์ก็เริ่มอุบัติขึ้นในยุคนี้นี่เอง และเป็นมหายุคที่สัตว์เลื้อยคลานประเภทไดโนเสาร์เกลื่อนไปทั่วทุกทวีป เหมือนคนที่อยู่อาศัยกันกระจายไปทั่วโลก คนจึงกล่าวกันว่ามหายุคมีโซโซอิกนี้เป็นยุคที่ไดโนเสาร์ครองโลกนั่นเอง และเมื่อเกิดอุบัติเหตุใหญ่บนโลกที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปเมื่อ ๖๕ ล้านปีก่อน จึงเริ่มเข้าสู่มหายุคปัจจุบัน คือมหายุคซีโนโซอิก
๔. มหายุคซีโนโซอิก มหายุคนี้ แบ่งเป็น ๒ ยุค ซึ่ง ในแต่ละยุคมีย่อยเป็นสมัยต่าง ๆ อีก คือ
ยุคเทอร์เชียรี (๖๕-๒ ล้านปี) ยุคนี้ก็จะแบ่งเป็นสมัย ๔ สมัย คือ สมัยอีโอซีน-พาลีโอซีน สมัยโอลิโกซีน สมัยไมโอซีน และสมัยไพลโอซีน สรุปยุคนี้คือยุคที่เริ่มมีสัตว์กีบ มีหนู มีลิง มีพืชพันธุ์ต่าง ๆ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและมีช้างชนิดต่าง ๆ แพร่หลาย ช้างสเตโกดอนที่พบเห็นในถ้ำวังกล้วยก็เป็นช้างในช่วงต่อสองยุคท้ายนี้นี่เอง
ยุคควอเทอร์นารี (๒ ล้านปีจนถึงปัจจุบัน) ยุคนี้มีสองสมัย คือ สมัยไพลสโตซีน เป็นยุคของมนุษย์สมัยหิน และสมัยโฮโลซีน เป็นยุคของมนุษย์ที่ครองโลกปัจจุบันนั่นเอง
ถ้ำเจ็ดคต ถ้ำน้ำลอดอีกแห่งที่มีขนาดย่อมกว่าถ้ำเลสเตโกดอน แต่ความงดงามของธรรมชาตินั้นไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเท่าใด
ความโดดเด่นของซากดึกดำบรรพ์ในอุทยานธรณีสตูล
อย่างที่บอกไปว่าพื้นดินของจังหวัดสตูลเป็นแผ่นดินที่เคยอยู่ใต้ทะเล เดิมสัตว์น้ำโบราณและสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่เคยครองท้องทะเลในโลกยุคเริ่มแรกเกิดขึ้น เจริญเติบโต แล้วตายดับทับถม มีตะกอนดินทรายมาอัดทับกันเป็นเวลานับร้อย ๆ ล้านปี แล้วในที่สุดก็ถูกปรากฏการณ์ของแผ่นเปลือกโลกที่เบียด ดัน เฉือน ชน จนทำให้พื้นดินที่เคยจมอยู่ในน้ำโผล่ขึ้นมาเหนือระดับน้ำ บางส่วนกลายเป็นภูเขา (หินบนโลกเรานี้อธิบายคร่าว ๆ ให้เข้าใจง่าย ๆ คือมีอยู่ ๒ พวก พวกหนึ่งปะทุขึ้นมาจากใต้โลกจากแมกมา ออกมาเป็นลาวา และเป็นหินพวกแกรนิตต่าง ๆ อีกพวกหนึ่งคือหินที่มาสะสมตัวกันบนพื้นโลก เรียกว่าหินตะกอน เช่น พวกหินปูน หินทราย หินดินดาน เป็นต้น)
เราจึงไม่แปลกใจเลยที่เรามักพบเจอซากดึกดำบรรพ์ของสิ่งมีชีวิตในมหายุคพาลิโอโซอิกในภูเขาหินปูน เพราะหินปูนเกิดจากการทับถมของดิน หินทราย ตะกอนในยุคสมัยนั้น การตกตะกอนของดินหินทรายก็มีการทับถมซากดึกดำบรรพ์ในยุคนั้นมาด้วยนั่นเอง เราจะไม่เจอซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ในหินปูน แต่จะเจอในหินทราย หรือหินโคลน ก็เพราะว่าหินเหล่านั้นร่วมยุคสมัยกับช่วงที่ไดโนเสาร์ครองโลก
แผ่นดินสตูลนั้นถึงขนาดได้สมญานามว่าฟอสซิลแลนด์ เพราะก้อนหินแทบทุกพื้นที่ในเขตอำเภอทุ่งหว้า ที่เป็นหินปูน หินดินดาน จะพบเห็นซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์โบราณในยุคสมัยนั้น เช่น ไทรโลไบต์ นอติลอยด์ แอมโมนอยต์ แกรปโตไลต์ แบรคิโอพอด สโตรมาโตไลต์ ฯลฯ ถึงขนาดที่ว่าถนนบางสายในเขตทุ่งหว้าถูกถมด้วยหินที่มีแต่ซากดึกดำบรรพ์ซ่อนไว้ภายในทั้งสิ้น หินข้างทางในเขตทุ่งหว้า หากลองแกะดูอาจจะพบเห็นซากดึกดำบรรพ์อายุกว่า ๕๐๐ ล้านปี ชนิดใดชนิดหนึ่งซ่อนตัวอยู่ก็ได้
ที่โรงเรียนกำแพงวิทยา มีชมรมของนักเรียนที่ทำกิจกรรมทางธรณีวิทยา มีการเก็บตัวอย่างของซากดึกดำบรรพ์ที่กำกับแต่ละยุคในมหายุคพาลิโอโซอิกครบทั้ง ๖ ยุค ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีที่ไหนสามารถเก็บตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์สิ่งมีชีวิตในแต่ละยุคได้ครบทั้ง ๖ ยุคในพื้นที่เดียวกันมาก่อน
นี่จึงเป็นลักษณะโดดเด่นทางธรณีในเรื่องซากดึกดำบรรพ์ และยืนยันถึงสมญานาม “ฟอสซิลแลนด์ แดนสตูล” ได้เป็นอย่างดี
เที่ยวอะไรในอุทยานธรณีสตูล
แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในพื้นที่อุทยานธรณีสตูลนั้น มีความโดดเด่น มีความหลากหลายค่อนข้างมาก ทั้งทางธรรมชาติที่เป็นปรากฏการณ์ทางธรณี แล้วมีการทำกิจกรรมศึกษาธรรมชาติ ทั้งการนั่งเรือยางเข้าเที่ยวชมถ้ำลอดวังกล้วย ซึ่งตั้งชื่อใหม่ว่าถ้ำเลสเตโกดอน ตามชื่อช้างสเตโกดอนที่พบฟันกรามในถ้ำ และเป็นที่มาของการสำรวจและจัดตั้งอุทยานธรณีสตูล จนกระทั่งไปถึงระดับขึ้นทะเบียนกับยูเนสโกให้เป็นอุทยานธรณีโลกทางธรณีนี่เอง
ถ้ำเลสเตโกดอนเป็นถ้ำลอดขนาดใหญ่ที่ยาวนับกิโลเมตร ใช้เวลาล่องนานร่วม ๓ ชั่วโมง นอกจากความสวยงามของหินย้อยและปรากฏการณ์ถ้ำต่าง ๆ ภายในแล้ว ยังมีฟอสซิลสัตว์โบราณ เช่น นอติลอยด์ ปรากฏตามเพดานถ้ำหลายแห่ง ครั้นออกมานอกถ้ำ นั่งเรือมาจนถึงท่าน้ำอ้อย ที่เป็นเหมือนสวนสาธารณะของอำเภอทุ่งหว้า ยังสามารถลงเรือไปดูแนวสันทรายที่เรียกว่า “สันหลังมังกร” ช่วงทะเลเปิดรอยต่อกับจังหวัดตรังได้ด้วย (การล่องถ้ำเลสเตโกดอนมีการจำกัดคนเข้าในแต่ละวันและควรล่องตอนน้ำขึ้น โดยสามารถโทรฯ เช็กระดับน้ำและจำนวนคนเข้าได้ที่ อบต.ทุ่งหว้า โทรศัพท์ ๐ ๗๔๗๘ ๙๓๑๗)
นอกจากนั้นยังมีถ้ำเจ็ดคต ที่แม้จะสั้นกว่าถ้ำเลสเตโกดอนหลายเท่า แต่ความสวยงามนั้นก็ไม่ได้แตกต่างกันแต่อย่างใด ทั้งยังมีกิจกรรมล่องแก่งวังสายทอง หรือเที่ยวน้ำตกวังสายทองที่อยู่ใกล้ ๆ ได้ด้วย
ในพื้นที่เขตอุทยานธรณีสตูลมีภูเขาหินปูนหลายแห่งที่มีความโดดเด่นทางรูปทรงภายนอก และภายในก็มีถ้ำที่สวยงาม โดยเฉพาะถ้ำภูผาเพชร เป็นถ้ำที่เรียกได้ว่าสวยงามที่สุด ใหญ่โตที่สุด มีหินงอกหินย้อยขนาดใหญ่ที่สวยงามที่สุด ห้องโถงกว้างและสูงที่สุด และปรากฏการณ์ถ้ำที่เป็นที่สุดอีกมากมายภายในถ้ำแห่งนี้ มีการตกแต่งไฟฟ้าที่สวยงาม ชวนประทับใจ
ใกล้กับถ้ำภูผาเพชรสามารถเดินทางเข้าไปเยี่ยมชนเผ่ามันนิ หรือซาไก ที่อาศัยสร้างเพิงและกระท่อมในชายป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดได้ พวกเขายังมีวิถีชีวิตดั้งเดิม มีแต่เพียงใส่เสื้อผ้าแล้วเท่านั้น กระท่อมที่อยู่อาศัยไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนัก
นอกจากนั้นยังมีถ้ำเขาอุไรทอง ที่เป็นถ้ำในแนวดิ่งขนาดไม่ใหญ่นัก หรือน้ำตกธารสวรรค์ น้ำตกธารปลิว หรือจะเดินป่าไปพักแรมที่น้ำตกวังใต้หนานก็ได้
น้ำตกวังสายทอง สายธารเย็นใสพลิ้วไหวอยู่บนริ้วลายอันเกิดจากปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยา
หินสาหร่าย ซากดึกดำบรรพ์ของสาหร่ายดึกดำบรรพ์ที่กลายเป็นหิน ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สร้างศาลาครอบเอาไว้
เรียกว่าศาลทวดบุญส่ง
(1)ซากของนอติลอยด์ สัตว์ตระกูลหอยโบราณสมัยออร์โดวิเชียนที่พบในก้อนหินเห็นเป็นรูปร่างอย่างชัดเจน
(2)ซากดึกดำบรรพ์ของโกเนียไทด์ แอมโมนอยด์ชนิดแรกของโลก
บริเวณเขาน้อยริมทางไม่ไกลจากศาลทวดบุญส่ง เป็นภูเขาหินตะกอนที่เกลื่อนกลาดไปด้วยซากบรรพชีวินอายุนับล้านปี
อุทยานธรณีสตูลประกาศครอบคลุมพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติตะรุเตาและอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ซึ่งในส่วนของอุทยานแห่งชาติตะรุเตานั้น มีโค้งประตูเกาะไข่ เกาะหินงาม เกาะหินซ้อน หาดหินสีแดงที่อ่าวสนบนตะรุเตา ส่วนความงามของท้องทะเลบนเกาะอาดัง-ราวีและเกาะหลีเป๊ะนั้นขึ้นชื่อในเรื่องความสวยงามอยู่แล้ว คงไม่ต้องบรรยายเพิ่มเติม
ในส่วนของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ที่เขาโต๊ะหงาย บริเวณที่ทำการอุทยานฯ มีบริเวณที่เรียกว่าเขตข้ามกาลเวลา ที่หินสองยุคซึ่งมีอายุต่างกันนับล้าน ๆ ปี มาประกบกันกลายเป็นภูเขา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่หาไม่ได้ง่ายในทางธรณีวิทยา อีกทั้งใกล้เคียงกันนั้นมีชายหาดที่มีหินทรงกลมสีต่าง ๆ ถึง ๕ สี อยู่บนหาดเดียวกัน จึงตั้งชื่อว่าหาดห้าสี จึงเห็นหินสีต่าง ๆ บนชายหาดอย่างชัดเจนและสวยงาม (ควรไปช่วงน้ำลง โดยการโทรฯ เช็กระดับน้ำกับทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราก่อน)
จากที่ทำการอุทยานฯ หมู่เกาะเภตราสามารถเช่าเรือไปเที่ยวหรือพักแรมบนเกาะลิดีได้ด้วย เกาะแห่งนี้นอกจากมีชายหาด ป่าชายเลน ยังมีแนวหินก้อนกลมเล็ก ๆ ที่โผล่ขึ้นมาเชื่อมต่อไปยังเกาะหว้าหิน เกาะเล็ก ๆ ที่บนเกาะมีปรากฏการณ์หินลักษณะเป็นตารางหมากรุก
ครั้นไปทางท่าเรือปากบารา (ทางลงเรือไปเกาะหลีเป๊ะ) ที่บ้านบ่อเจ็ดลูก มีกิจกรรมนั่งเรือเที่ยวชมหมู่เกาะต่าง ๆ ย่านบ่อเจ็ดลูก เช่น ปราสาทหินพันยอด หาดหินงาม หินตา-ยาย หาดพบรัก ฯลฯ แม้จะเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา แต่ก็มีการมอบหมายให้ชุมชนสามารถจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนภายใต้การกำกับดูแลของอุทยานแห่งชาติ
ประเทศไทยเรายังมีอุทยานธรณีอีกหลายแห่ง เช่น อุทยานธรณีโคราช (ไม้กลายเป็นหิน) อุทยานธรณีขอนแก่น อุทยานธรณีผาชัน-สามพันโบก อุทยานธรณีเพชรบูรณ์ ฯลฯ บางแห่งเป็นอุทยานธรณีในระดับจังหวัด บางแห่งเป็นอุทยานธรณีในระดับชาติ แต่ทุกแห่ง ล้วนมีเป้าหมายให้ยูเนสโกขึ้นทะเบียน รับรองเป็น UNESCO Global Geoparks หรือเป็นอุทยานธรณีโลกทั้งนั้น นอกจากจะเป็นศักดิ์ศรีของประเทศแล้ว การถูกรับรองจากยูเนสโกจึงเป็นเสมือนการการันตีชั้นดีว่าพื้นที่นี้ มีคุณค่า สมควรแก่การมาเยี่ยมชม
การได้ขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีโลกของอุทยานธรณีสตูล จึงเป็นเสมือนต้นแบบที่จะทำให้อุทยานธรณีแห่งอื่น ๆ ในประเทศไทยเรา ได้มีแนวทางเพื่อกรุยทางไปสู่ความสำเร็จในระดับโลกต่อไป