ประวัติศาสตร์, ภูมิศาสตร์ และธรณีวิทยา

ประวัติศาสตร์, ภูมิศาสตร์ และธรณีวิทยา

TourismThailand, 09 Jan 2020
ถูกใจ
ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน (Thailand History) มีหลักฐานกล่าวถึงอาณาจักรโบราณซี่งมีความยิ่งใหญ่หลายแห่ง แต่หากจะนับกันอย่างจริงจังแล้ว สุโขทัยคืออาณาจักรแรกของประวัติศาสตร์ชาติไทย เพราะเริ่มมีการประดิษฐ์อักษรไทยและมีการบันทึกเรื่องราวขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงสุโขทัย ต่อมาก็เป็นกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบันนี้ โดยในแต่ละยุคสมัยจะมีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม (Thailand culture) ที่น่าสนใจหลายอย่าง 

สมัยกรุงสุโขทัย กษัตริย์ผู้ทรงสถาปนากรุงสุโขทัยคือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ทรงสถาปนากรุงสุโขทัยเมื่อ พ.ศ. 1781  โดยมีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช กรุงสุโขทัยรุ่งเรืองที่สุดในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หลังจากนั้นก็เริ่มเสื่อมอำนาจ และตกอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยาในเวลาต่อมา 

สมัยกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1893 อาณาจักรอยุธยากลายเป็นมหาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวลาไม่นานนัก สามารถรวบรวมคนไทยกลุ่มต่างๆ ให้เป็นปึกแผ่น เริ่มมีการติดต่อกับชาวต่างประเทศ เช่น โปรตุเกส ฝรั่งเศส ดัตช์ จีน และญี่ปุ่น กรุงศรีอยุธยาเสียเอกราชให้กับพม่าเมื่อ พ.ศ. 2112 ต่อมาสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพและขยายอาณาเขตเพิ่มมากขึ้น ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นยุครุ่งเรืองของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หลังจากนั้นกรุงศรีอยุธยาก็ทำสงครามครั้งใหญ่กับพม่าอีกครั้ง และพ่ายแพ้โดนพม่าทำลายเมืองในปี พ.ศ. 2310 ความยิ่งใหญ่ของกรุงศรีอยุธยาจึงสิ้นสุดลงเพียงแค่นั้น 

สมัยกรุงธนบุรี หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตก พระเจ้าตากสินทรงรวบรวมกำลังพลขับไล่ทหารพม่าออกไป แล้วย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่กรุงธนบุรี แต่หลังจากสิ้นสุดรัชกาลของพระเจ้าตากสิน พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกซึ่งสถาปนาพระองค์เป็นกษัตริย์แทน ก็ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่กรุงเทพมหานคร (Bangkok Thailand) หรือ กรุงรัตนโกสินทร์ 

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกคือปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นั้นมีปัญหาการรุกรานจากชาติตะวันตก ทำให้พระมหากษัตริย์ไทยทรงหาทางแก้ปัญหา โดยการเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติต่างๆ มีการทำการค้า ทำสัญญาตกลงแลกเปลี่ยน ซึ่งบางครั้งก็ต้องยอมเสียดินแดนบางส่วนให้กับชาติมหาอำนาจจากซีกโลกตะวันตกเพื่อดำรงเอกราชของชาติไทยเอาไว้ 

เมื่อ พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งสำคัญ คือ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชซึ่งยึดถือกันมาเนิ่นนาน เป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข จนถึงทุกวันนี้

ยุคแรกเริ่ม 
จากหลักฐานทางโบราณคดีซึ่งค้นพบในพื้นที่หลายแห่งของประเทศ ทำให้เชื่อได้ว่าบริเวณที่เป็นประไทยในปัจจุบันนี้ มีมนุษย์อาศัยอยู่เป็นชุมชนตั้งแต่เมื่อเกือบ 6 พันปีที่แล้ว โดยชนชาติที่ครอบครองดินแดนแห่งนี้ในยุคแรกๆ คือ ชาวละว้าและชาวป่าชาวเขาในตระกูลมอญและขอมโบราณ ได้ก่อตั้งอาณาจักรลพบุรีขึ้น ณ บริเวณที่ตั้งของจังหวัดลพบุรีในปัจจุบัน  

จนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-13 มีอาณาจักรต่างๆ ที่ครอบครองดินแดนในแถบนี้ในเวลาต่อมาอีก ได้แก่ อาณาจักรขอม ครอบครองดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงและแม่น้ำมูนทางตะวันออก มีเมืองหลวงอยู่ที่นครวัด ในราชอาณาจักรกัมพูชาในปัจจุบัน อาณาจักรทวารวดีของชนชาติมอญ ครอบครองพื้นที่ทางตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาลงไปถึงตอนเหนือของคาบสมุทรมลายา โดยมีเมืองศูนย์กลางอยู่ที่นครปฐม อาณาจักรศรีวิชัยของชาวมลายู อยู่ทางตอนใต้ของคาบสมุทรมลายา  

ในระหว่างนั้นชนชาติไทยโบราณที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ได้อพยพโยกย้ายลงมาตั้งอาณาจักรน่านเจ้าขึ้นในบริเวณมณฑลยูนนาน ในเขตสิบสองปันนา ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน ก่อนจะถูกรุกรานจากชนชาติจีนซึ่งเข้มแข็งกว่า แล้วเดินทางถอยลงมาทางใต้ตามแนวแม่น้ำโขง ในดินแดนคาบสมุทรอินโดจีน เพื่อหาพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์กว่าเดิมสำหรับทำอาชีพกสิกรรม และตั้งอาณาจักรขึ้นใหม่หลายแห่งในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในความครอบครองของชนชาติขอม  

ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 13 ได้ปรากฏอาณาจักรล้านนาขึ้นบนฝั่งแม่น้ำโขง ในบริเวณที่ตั้งของอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ในปัจจุบัน และอาณาจักรล้านช้าง อันเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงพระบางของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน 

สมัยสุโขทัย 
ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ในช่วงเวลาเดียวกับยุคสมัยอาณาจักรล้านนารุ่งเรืองทางตอนเหนือ ชาวไทยกลุ่มหนึ่งซึ่งเข้ามาอยู่ในดินแดนของขอม ได้รวมตัวกันและสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้นเป็นอิสระจากขอม ภายใต้การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีพระร่วงเจ้า หรือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นกษัตริย์พระองค์แรก มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่กรุงสุโขทัย หรือจังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน  

พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยทรงปกครองประเทศด้วยพระองค์เอง โดยมีพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ช่วยเหลือ รูปแบบการปกครองในสมัยนั้นอาจจำแนกออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ  

การปกครองส่วนกลาง ได้แก่ เมืองหลวง และเมืองลูกหลวง หรือเมืองหน้าด่าน ที่อยู่รายล้อมเมืองหลวงทั้ง 4 ทิศ ประกอบด้วย เมืองศรีสัชนาลัย (สวรรคโลก) ทางทิศเหนือ เมืองสองแคว (พิษณุโลก) ทางทิศตะวันออก เมืองสระหลวง (พิจิตร) ทางทิศใต้ และเมืองกำแพงเพชร (ชากังราว) ทางทิศตะวันตก  

การปกครองหัวเมือง หรือเมืองที่อยู่นอกอาณาเขตเมืองลูกหลวง แบ่งเป็นหัวเมืองชั้นนอกและหัวเมืองประเทศราช  

อาณาจักรสุโขทัยมีกษัตริย์ปกครองสืบต่อมาอีกหลายพระองค์ และขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเป็นครั้งแรกในยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของอาณาจักร พระองค์ได้รวบรวมหัวเมืองต่างๆ เข้าไว้ในปกครองมากมาย จนยากที่จะปกครองได้อย่างทั่วถึง ต่อมาจึงประสบปัญหาทั้งจากภายนอกและภายใน และค่อยๆ ตกต่ำลงจนถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาไปในที่สุด 

สมัยอยุธยา 
ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 กลุ่มคนไทยที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้ตั้งอาณาจักรขึ้นใหม่ ภายใต้การนำของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง สถาปนาขึ้นเป็นกรุงศรีอยุธยา และได้รวบรวมอาณาจักรอื่นๆ รวมทั้งกรุงสุโขทัยเข้าไว้ในการปกครองเกือบทั้งหมด นอกจากนี้ ยังขยายอำนาจออกไปทั่วบริเวณคาบสมุทรอินโดจีน แหลมมลายู จนถึงเกาะปีนังและสิงคโปร์ มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติหลายประเทศ จึงเป็นช่วงเวลาที่มีวัฒนธรรมจากดินแดนอื่นๆ เผยแพร่เข้ามามาก  

พระเจ้าอู่ทองได้ปรับปรุงระบอบการปกครองในส่วนกลางของกรุงศรีอยุธยา เป็นแบบจตุสดมภ์ตามแบบอย่างของขอม คือ กษัตริย์เป็นผู้อำนวยการปกครอง มีเสนาบดี 4 คน คือ ขุนเมือง ขุนวัง ขุนคลัง และขุนนา พร้อมทั้งตรากฎหมายลักษณะอาญาหลวงและกฎหมายลักษณะอาญาราษฎรขึ้น เพื่อเป็นบรรทัดฐานในกระบวนการยุติธรรม  

ต่อมากรุงศรีอยุธยาได้สูญเสียเอกราชครั้งที่ 1 ให้แก่พม่า ใน พ.ศ. 2112-2124 ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงกอบกู้เอกราชกลับคืน และได้ประกาศอิสรภาพเมื่อ พ.ศ. 2127 จากนั้นได้ทรงขยายอาณาเขตไปกว้างไกล กรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรืองมากและแผ่นดินร่มเย็นเป็นสุข มีกษัตริย์ปกครองสืบเนื่องกันมารวม 33 พระองค์  

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2310 เป็นช่วงเวลาที่ผู้ปกครองขาดความสนใจในหน้าที่บ้านเมือง เกิดความแตกแยกภายใน บ้านเมืองระส่ำระสาย การปกครองขาดเสถียรภาพ ทั้งยังว่างเว้นจากการศึกสงครามมาเป็นเวลานาน กรุงศรีอยุธยาจึงถูกพม่ารุกราน และตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าอีกเป็นครั้งที่ 2 

สมัยธนบุรี 
ในปี พ.ศ. 2310 เมื่อพม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา เจ้าพระยาตากได้รวบรวมไพล่พลประมาณ 500 นาย ตีฝ่าวงล้อมกองทัพพม่าออกไปตั้งมั่นที่เมืองจันทบุรี เมื่อรวบรวมไพร่พลได้อีกจำนวนหนึ่ง ก็ยกทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยากลับคืนมาได้ในปีเดียวกัน แต่เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาในขณะนั้นได้รับความเสียหายเกินกว่าที่จะฟื้นฟูได้ และเป็นเมืองที่พม่ารู้เส้นทางดีอยู่แล้ว ทำให้ยากต่อการปกป้องรักษาบ้านเมือง เจ้าพระยาตากจึงย้ายเมืองหลวงมาที่กรุงธนบุรี แล้วสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ปกครองอาณาจักรกรุงธนบุรี  

สำหรับด้านการเมืองการปกครองของกรุงธนบุรีนั้น ยังคงใช้ระบอบที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา คือพระมหากษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดในการปกครอง การปกครองส่วนกลางมีสมุหกลาโหมดูแลฝ่ายทหาร และมีสมุหนายกดูแลฝ่ายพลเรือน และจัดตั้งจตุสดมภ์ แบ่งการปกครองออกเป็น 4 ส่วน คือ เวียง วัง คลัง นา  

การปกครองหัวเมืองแบ่งเป็นหัวเมืองชั้นใน หรือเมืองจัตวา มีผู้ปกครองเรียกว่าผู้รั้ง หัวเมืองชั้นนอก หรือเมืองพระยามหานคร มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าเมือง และหัวเมืองประเทศราช ที่มีอำนาจปกครองตนเอง ได้แก่ กัมพูชา ลาว เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช  

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชปกครองบ้านเมืองมาจนกระทั่งถึง พ.ศ. 2325 รวมระยะเวลาที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานี 15 ปี 

สมัยรัตนโกสินทร์ 
หลังจากสถาปนากรุงธนบุรีแล้ว เศรษฐกิจของเมืองก็ตกอยู่ในสภาพที่ตกต่ำมากจากการทำศึกสงครามรวบรวมอาณาจักรไทยให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การทำสงครามกับพม่าเพื่อปกป้องราชธานี และต้องทำนุบำรุงบ้านเมืองตลอดเวลา ต่อมาในปี พ.ศ. 2325 พระยาจักรี นายทหารซึ่งได้ร่วมกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกอบกู้เอกราชของบ้านเมืองเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 จึงได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และได้ทรงสร้างเมืองหลวงขึ้นใหม่ที่ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นชัยภูมิที่ดีกว่า และพระราชทานนามว่า “กรุงเทพมหานคร”  

แม้ปัญหาด้านการปกครองภายในจะเบาบางลงในยุคนี้ แต่การรุกรานจากชาติตะวันตกกลายเป็นปัญหาใหม่ที่ทวีความรุนแรงขึ้น ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 24 และ 25 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 4 และ 5 ประเทศในแถบเอเชียตอนใต้ตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตกเกือบทั้งหมด มีประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่ดำรงความเป็นเอกราชมาได้ เนื่องด้วยพระปรีชาสามารถในการดำเนินวิเทโศบายด้านการเมืองและการต่างประเทศของพระมหากษัตริย์ไทย โดยทรงเจริญสัมพันธไมตรีและดำเนินการด้านการค้าและสัญญาต่างๆ กับประเทศมหาอำนาจตะวันตก ซึ่งบางครั้งต้องยอมสูญเสียดินแดนหรือผลประโยชน์ของประเทศบางส่วน เพื่อรักษาไว้ซึ่งเอกราชของชาติ ในช่วงเวลานี้เองที่แนวคิดทางการเมืองการปกครองแบบใหม่ๆ ได้หลั่งไหลมาสู่ประเทศไทยมากขึ้น  

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจของโลกตกต่ำเป็นเวลานาน ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นอันมาก และทำให้เกิดความไม่พอใจต่อผู้มีอำนาจปกครอง ซึ่งถูกมองว่ามีการหาประโยชน์ใส่ตนและพวกพ้อง ทั้งที่ประชาชนตกอยู่ในสภาวะยากแค้น ในที่สุดคณะราษฎรจึงได้ทำการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และใช้มาจนถึงปัจจุบัน  

ประเทศไทยเจริญรุ่งเรืองภายใต้พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในราชวงศ์จักรีสืบเนื่องมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช หรือพระรามาธิบดีที่ 9 และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกในปัจจุบัน

 

separate line
ลักษณะภูมิประเทศ

ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  มีเนื้อที่ 513,000 ตารางกิโลเมตร หากดูตามแผนที่จะพบว่ามีรูปร่างเหมือนขวานโบราณ  โดยมีพรมแดนทางทิศเหนือติดสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทิศตะวันออกติดสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและราชอาณาจักรกัมพูชา ทิศใต้ติดอ่าวไทยและมาเลเซีย ทิศตะวันตกติดทะเลอันดามันและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา  

ภูมิประเทศของไทยแบ่งออกเป็น 6 ลักษณะ คือ  

1. เขตภูเขาและที่ราบระหว่างภูเขาภาคเหนือ 

พื้นที่ทางภาคเหนือของไทยส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำลำธารหลายสายที่ไหลลงแม่น้ำโขง แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำสาละวิน  

เทือกเขาที่สำคัญ ได้แก่ เทือกเขาหลวงพระบาง เทือกเขาแดนลาว เทือกเขาถนนธงชัย เทือกเขาผีปันน้ำ เทือกเขาขุนตาน และเทือกเขาเพชรบูรณ์ มียอดเขาที่สูงที่สุดของประเทศคือยอดอินทนนท์ ในจังหวัดเชียงใหม่ สูงประมาณ 2,595 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง  

2. เขตที่ราบภาคกลาง  

เป็นที่ราบดินตะกอนที่หนาแน่นและกว้างขวางที่สุดของไทย มีแม่น้ำที่สำคัญ คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำบางปะกง เนื่องจากเป็นที่ราบกว้างใหญ่ พื้นที่อุดมสมบูรณ์ จึงเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของประเทศ  

3. เขตที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  

ภูมิประเทศเขตนี้มีขอบสูงชันตามแนวเทือกเขาทางทิศตะวันตกและทิศใต้ ตอนกลางเป็นแอ่งคล้ายก้นกระทะ เรียกว่าแอ่งโคราช มีแม่น้ำชีและแม่น้ำมูนไหลผ่าน และไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่จังหวัดอุบลราชธานี  

เทือกเขาสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เทือกเขาเพชรบูรณ์ เทือกเขาดงพญาเย็น เทือกเขาสันกำแพง และเทือกเขาพนมดงรัก  

4. เขตภูเขาสูงภาคตะวันตก  

เขตภูเขาของภาคตะวันตกไม่มีที่ราบระหว่างภูเขาอย่างทางภาคเหนือ มีเพียงที่ราบแคบๆ เท่านั้น เทือกเขาสำคัญของภาคตะวันตก ได้แก่ เทือกเขาถนนธงชัยและเทือกเขาตะนาวศรี ที่เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำแควน้อย และแม่น้ำแควใหญ่  ซึ่งไหลมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำแม่กลอง  

5. เขตภูเขาและที่ราบชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก  

ทางตอนเหนือจะมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ทางตอนกลางเป็นทิวเขาสลับที่ราบลูกฟูก ส่วนทางตอนใต้เป็นที่ราบชายฝั่งทะเล เทือกเขาสำคัญ คือ เทือกเขาจันทบุรีและเทือกเขาบรรทัด ระหว่างเทือกเขาทั้งสองเป็นพื้นที่ราบแคบๆ มีพื้นดินอุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับปลูกผลไม้ มีแม่น้ำบางปะกงไหลลงอ่าวไทย ลักษณะชายฝั่งเว้าแหว่งเต็มไปด้วยเกาะแก่ง หาดทรายสวยงาม เกาะที่สำคัญได้แก่ เกาะช้าง เกาะกูด และเกาะสีชัง  

6. เขตภูเขา ที่ราบสูง ที่ราบชายฝั่งทะเล และหมู่เกาะต่างๆ ทางภาคใต้  

พื้นที่ของภาคใต้เป็นที่ราบสูงบนคาบสมุทรแคบๆ มีที่ราบอยู่ริมชายฝั่งตะวันออกและตะวันตกเป็นแนวขนานกัน โดยมีเทือกเขาสูงเป็นสันอยู่ตรงกลาง เทือกเขาสำคัญ ได้แก่ เทือกเขาสันกาลาคีรี ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย เทือกเขาภูเก็ต และเทือกเขานครศรีธรรมราช มีแม่น้ำสายสั้นๆ เช่น แม่น้ำกระบุรี แม่น้ำตรัง แม่น้ำคีรีรัฐ แม่น้ำตาปี แม่น้ำปากพนัง และแม่น้ำโกลก มีเกาะที่สำคัญทางฝั่งตะวันตก คือ เกาะภูเก็ต ทางฝั่งตะวันออก คือ เกาะสมุยและเกาะพะงัน  

การรู้จักภูมิประเทศของประเทศไทยคงมีส่วนช่วยให้ตัดสินใจได้ว่าจะไปเที่ยวเมืองไทยที่ไหนดี เพราะเมืองไทยนั้นมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติมากมาย แต่ละจังหวัดแต่ละภาคก็มีจุดเด่นที่น่าสนใจต่างกันไป อย่างเช่น ป่าไม้ ภูเขา น้ำตก ทะเล หาดทราย เกาะ แม่น้ำ ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่ากิจกรรมสนุกๆ สำหรับนักท่องเที่ยวก็จะแตกต่างไปด้วยเช่นกัน

separate line
แหล่งธรรมชาติ

ชายฝั่งทะเลและหมู่เกาะ 

ประวัติศาสตร์, ภูมิศาสตร์ และธรณีวิทยา

เมืองไทยมีอาณาเขตติดทะเลถึง 3 ฝั่ง คือ ฝั่งภาคตะวันออก ฝั่งภาคใต้ด้านอ่าวไทย และฝั่งภาคใต้ด้านอันดามัน ไม่ว่าจะฝั่งไหนต่างก็มีสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมซึ่งเป็นที่ยอมรับของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาแล้ว ทั้งชายหาด (Thailand beaches) และเกาะ (thailand island) ต่างๆ  

สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม  

ภาคตะวันออก บางแสน พัทยา เกาะล้าน เกาะขาม เกาะเสม็ด หาดแม่รำพึง แหลมแม่พิมพ์ เกาะช้าง เกาะหมาก  
ภาคใต้ด้านอ่าวไทย เกาะสมุย เกาะเต่า หาดทุ่งวัวแล่น หาดในเพลา หาดท้องชิง แหลมสมิหลา หาดมหาราช  
ภาคใต้ด้านอันดามัน เกาะพยาม ภูเก็ต เกาะพีพี เกาะหลีเป๊ะ หาดเจ้าไหม เกาะไหง เกาะมุก เกาะกระดาน

อุทยานแห่งชาติ

ประวัติศาสตร์, ภูมิศาสตร์ และธรณีวิทยา

จากป่าไม้ที่มีอยู่มากมาย จึงเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญหลายสาย จากตาน้ำเล็กๆ ไปสู่ลำธาร คลอง จนกลายเป็นแม่น้ำในที่สุด และส่งผลให้มีน้ำตกสวยๆ ในอุทยานต่างๆ บางแห่งก็มีความสูงมาก บางแห่งก็มีหลายชั้น มีระยะความยาวหลายกิโลเมตร น้ำตกเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวได้พักผ่อนเล่นน้ำ ชมความสวยงามของสายน้ำ ขณะที่คลอง แม่น้ำ ก็เป็นเส้นทางสัญจร เป็นแหล่งหาอาหารของชาวบ้าน และรวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย  

อุทยานแห่งชาติยอดนิยม  
อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จังหวัดพังงา 
อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่  
อุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี  
อุทยานแห่งชาติเอราวัณ จังหวัดกาญจนบุรี  
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี  
อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา  
อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่  
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา  
อุทยานแห่งชาติไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

พรรณไม้ไทยและสัตว์ป่าไทย

ประวัติศาสตร์, ภูมิศาสตร์ และธรณีวิทยา
separate line
0.00

  • 5
    0%
  • 4
    0%
  • 3
    0%
  • 2
    0%
  • 1
    0%