พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ศิลปหัตถกรรมเก๋ไก๋ ครัวไทยสู่เมืองหลวง
หากใครที่กําลังวางแผนเที่ยวแต่มีข้อจํากัดเรื่องเวลา เราขอแนะนําจังหวัดอ่างทองไว้ให้พิจารณา จังหวัดเล็กๆ ที่ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ไม่เกิน 2 ชั่วโมง แต่มีสถานที่ท่องเที่ยวครบอรรถรส แม้ว่าเมืองนี้มักจะถูกพูดถึงในฐานะเมืองพระใหญ่ แต่จริงๆ แล้วอ่างทองยังมีเสน่ห์และความน่าสนใจซ่อนอยู่
เริ่มต้นที่เอกลักษณ์ของจังหวัด ซึ่งนับเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของเมืองอย่าง “พระพุทธ มหานวมินทรศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ (หลวงพ่อใหญ่)” พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาด ใหญ่ ประดิษฐานอยู่ที่วัดม่วง องค์พระมีขนาดหน้าตักกว้าง 63.05 เมตร ความสูงจากฐาน องค์พระถึงยอดเกศา 95 เมตร แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองพระใหญ่ จึงไม่ได้มีเพียงหลวงพ่อใหญ่ เพียงองค์เดียวเท่านั้น แต่ทว่ายังมีองค์พระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารวัดป่าโมกวรวิหาร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย โดยองค์พระนอนมีความยาวราว 22 เมตร องค์พระเป็นปูนปั้นลงรักปิดทอง พระเศียรหนุนพระเขนย 3 ใบ นอนตะแคงขวา มีจุดเด่นอยู่ที่พระพักตร์อันงดงาม และยังมีตำนานเล่าขานจากบันทึกของพระครูปาโมกข์มุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดสมัยรัชกาลที่ 5 ว่า พระนอนองค์นี้พูดได้
ชาวอ่างทองยังมีองค์พระพุทธไสยาสน์ ขนาดใหญ่ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจอยู่ที่ “วัดขุนอินทประมูล” สถานที่ประดิษฐานของพระศรีเมืองทอง องค์พระนอนกลางแจ้งที่มีความยาว ที่สุดในประเทศไทย วัดจากปลายพระเมาลีถึงปลายพระบาทได้ 50 เมตร พระวรกายมีสีขาว นับได้ว่าเป็นองค์พระนอนที่ยิ่งใหญ่และสง่างามเป็นอย่างมาก ภายในวัดยังมีสถานที่สำคัญ ได้แก่ “วิหารหลวงพ่อขาว” ที่ทิ้งร่องรอยไว้แค่ผนังบางส่วนและองค์พระพุทธรูป “ศาลาอเนกประสงค์” มีศาลรูปปั้นขุนอินทประมูล นายอากรผู้ยักยอกเงินหลวงมาสร้างพระพุทธไสยาสน์ และอุโบสถขนาดใหญ่ 3 ชั้นอยู่ด้านหลังขององค์พระนอน มีลิฟต์และแอร์ที่ถูกติดตั้งเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ญาติโยมที่มาทำบุญ และจิตรกรรมฝาผนังที่ใช้วิธีวาดภาพเสมือนจริงของผู้ที่บริจาคเงินให้กับวัด เพื่อเป็นนัยว่านี่คือผู้ที่ได้อยู่ในประวัติศาสตร์ของการสร้างอุโบสถ ปัจจุบันมีภาพเหมือนของผู้คนมากมายที่ร่วมบริจาคสร้างบุญในครั้งนี้นับได้ว่าเป็นความคิดที่ร่วมสมัยและสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี ใครสนใจสามารถร่วมทำบุญได้
เข้าวัดไหว้พระตอบโจทย์สายบุญกันไปแล้ว ได้เวลาหาของอร่อยๆ ที่ “ตลาดศาลเจ้า โรงทอง” หรือตลาดวิเศษชัยชาญ อำเภอวิเศษชัยชาญ ตลาดเก่าอายุกว่า 100 ปีที่ยังคงวิถี ชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนชาวจีนในตลาดไว้ราวกับหยุดเวลา เป็นตลาดที่คนอ่างทองเองก็ มาจับจ่ายซื้อของจากที่นี่
หากไปในช่วงเช้า ขอแนะนำให้แวะไปฝากท้องที่ “ร้านกาเจ๊า” ตั้งอยู่บริเวณปากทางเข้าตลาด ร้านอาหารที่เปิดให้บริการมากว่า 90 ปี เมนูที่ต้องสั่งก็คือ ชุดไข่ลวก จัดเสิร์ฟมาในพวงเครื่องปรุงพร้อมกับกาแฟโบราณ ชาร้อน และปาท่องโก๋ ให้อารมณ์คลาสสิกสุดๆ ส่วนข้าวผัด เมนูที่ดูธรรมดาๆ แต่อาแปะเจ้าของร้านก็ผัดออกมาได้ยอดเยี่ยม ข้าวเรียงเม็ดสวย ไม่เละ ถูกผัดจนแห้งได้กลิ่นหอมกระทะ
พออิ่มท้องกับของคาวแล้วก็ต้องตบท้ายด้วยของหวาน เข้าทางขนมไทยโบราณของตลาดศาลเจ้าโรงทอง ซึ่งนับได้ว่าเป็นของดีประจำชุมชนที่หากินที่อื่นได้ยาก อาทิ ขนมเกสรลำเจียก ขนมกลีบลำดวน ขนมโสมนัส ขนมดอกดิน มีขายในตลาดอยู่ทั่วไป แต่ร้านที่ได้รับความนิยมและถือว่ามีขนมให้เลือกหลากหลายคือ “ร้านทรงนิมิต” ในตลาดยังมีร้านขายสมุนไพรโบราณที่ขายมานานกว่า 100 ปี มีสมุนไพรมากกว่า 100 ชนิด เปิดให้บริการด้วย
นอกจากขนมไทยโบราณที่สร้างชื่อให้แก่อ่างทองแล้ว เมืองเล็กๆ แห่งนี้ยังมีร้านเบเกอรี สูตรฝรั่งที่อร่อยไม่แพ้ร้านหรูในเมืองที่ “Brighter Day's Cafe & Bistro” ร้านกาแฟใกล้ตัวเมืองที่ได้รับความนิยมจากชาวอ่างทองเป็นอย่างมาก ร้านบริการเครื่องดื่ม ขนมหวาน และอาหาร ทั้งอาหารจานเดียวไปจนถึงของกินเล่น แต่สิ่งที่ได้รับความนิยมจากลูกค้ามากที่สุดก็คือ เบเกอรี่สูตรโฮมเมดฝีมือเจ้าของร้าน โดยเฉพาะเมนูชีสเค้ก ทั้งชีสเค้กมะพร้าวอ่อน ชีสเค้กทุเรียน สตรอว์เบอร์รี่ชีสเค้ก บลูเบอร์รี่ชีสเค้ก หรือบานอฟฟี่ก็อร่อยไม่แพ้กัน ร้านนี้จึงเหมาะสำหรับใครที่อยากนั่งชิลๆ จิบกาแฟกินเค้ก รับรองว่าไม่ผิดหวัง พิสูจน์ได้จากบรรดาลูกค้าที่แวะเวียนมาตลอดวัน
อีกหนึ่งร้านอาหารอร่อยที่เราอยากแนะนำก็คือ “Pizza A.T. Garden” ร้านพิซซ่าเตาถ่านโฮมเมด ตั้งอยู่ริมทางไปวัดป่าโมกวรวิหาร ตัวร้านตกแต่งด้วยอิฐเปลือย เชื่อมโยงกับการนำจุดเด่นของร้านที่ใช้เตาถ่านในการอบพิซซ่า ร้านเลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพทั้งชีส เนื้อแป้ง และส่วนผสมต่างๆ มีเมนูหลากหลาย ตามมาตรฐานร้านพิซซ่าทั่วไป ตั้งแต่สลัด สปาเกตตี ผักโขมอบชีส ไก่ทอด ซุป แต่เมนูซิกเนเจอร์ของร้านที่อยากให้ลองก็คือ พิซซ่าหน้ากุ้งแม่น้ำพิซซ่าแป้งบางกรอบโปะหน้าด้วยกุ้งแม่น้ำตัวใหญ่ จัดผ่าครึ่งให้มันกุ้งเข้าไปผสานชีส กินคู่น้ำจิ้มซีฟู้ดรสแซ่บ นอกจากนี้ทางร้านยังมีการจัดเวิร์กช็อปสอนเด็กๆ รุ่นจิ๋วทําพิซซ่าด้วย ถ้าอยากรู้ว่าพิซซ่าฝีมือชาวอ่างทองเป็นอย่างไร ต้องแวะมาลองชิมกัน
อิ่มท้องทั้งของคาวหวานแล้ว เดินทางมาใช้พลังงานกันต่อที่ “ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง” โครงการพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ที่ต้องการเสริมสร้างรายได้ให้ชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2549 จึงก่อตั้งเป็นศูนย์ศิลปาชีพแห่งนี้ขึ้น โดยแบ่งการเรียนรู้ฝึกอาชีพออกเป็น 4 ประเภท แยกสัดส่วนเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เดินชมและเรียนรู้กันเป็นโซนๆ ได้แก่ “แผนกเครื่องปั้นดินเผา” ที่เราสามารถเข้าไปเยี่ยมชมตั้งแต่ต้นกระบวนการ ทั้งการปั้น การเผาในเตาโบราณ การเขียนสีใต้เคลือบด้วยมือ การติดรูปลอก จนกลายเป็นเซรามิกที่พร้อมใช้งาน มีตั้งแต่ชุดกาแฟ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ฯลฯ “แผนกทอผ้า” ที่เน้นการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ เทคนิคการทอผ้ายกราชสำนักไทยโบราณ ซึ่งใช้เป็นเครื่องแต่งกายหรือผ้านุ่งของตัวละครใน รามเกียรติ์ “แผนกปักผ้า” สาธิตการปักดิ้นเลื่อมชุดโขนไทยที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน และ “แผนกผลิตกระดาษข่อย” ซึ่งนำกระดาษเหล่านี้มาทำเป็นหัวโขน และนำมาทำสมุดปาฏิโมกข์ ตาลปัตรพระ สมุดข่อย ซึ่งนับได้ว่าเป็นงานฝีมืออันทรงคุณค่าของไทย
ปัจจุบันที่ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทองเปิดให้ผู้สนใจเข้าร่วมทำกิจกรรมเรียนรู้สีบัวทองทั้ง 4 แผนกได้เป็นประจำ โดยงดให้บริการช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ติดตามข่าวสารและร่วมเรียนรู้ทักษะอาชีพอันทรงคุณค่าเหล่านี้ได้
ปิดท้ายทริปด้วยการแวะไปถ่ายรูปกับเหล่าหุ่นเหล็กบนถนนสายเอเชียกันที่ “บ้านหุ่นเหล็ก” สถานที่จัดแสดงหุ่นที่สร้างขึ้นจากเหล็กและอะไหล่ที่ไม่ได้ใช้งานมากกว่า 100 ตัวออกแบบเป็นรูปทรงต่างๆ ทั้งเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ หุ่นยนต์รถแปลงร่างได้ ตัวการ์ตูนยอดฮิตไปจนถึงรูปสัตว์ต่างๆ ที่นี่ยังมีคาเฟ่ขายเครื่องดื่มและขนม โดยไฮไลต์อยู่ที่ "ช็อกโกแลตเครื่องมือช่าง” ทั้งน็อต ไขควง ประแจ ที่ทำออกมาเหมือนจริงทั้งสีและผิวสัมผัสที่ใช้เทคนิคการโรยผงช็อกโกแลตด้านบนให้เหมือนเครื่องมือช่างที่เป็นสนิม เชื่อว่าต้องมีหลายคนเสียดายที่จะต้องกินเหล่าช็อกโกแลตไอเดียสร้างสรรค์พวกนี้
จากความหลากหลายและน่าสนใจของสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดอ่างทอง เมืองเล็กๆ ที่เที่ยวได้ครบถ้วนทุกอรรถรสในวันเดียว ใครยังลังเลอยู่ อย่ารอช้า รุ่งเช้าขับรถมาเที่ยว ได้เลย