ตั้งอยู่ในวัดโพนชัย ถนนแก้วอาสา ห่างจากอำเภอด่านซ้ายประมาณ 2 กิโลเมตร ตัวพิพิธภัณฑ์เป็นบ้านเรือนไม้
พิพิธภัณฑ์ผีตาโขน ตั้งอยู่ภายในวัดโพนชัย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นสถานที่เก็บ และจัดนิทรรศการเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ที่สืบต่อกันมา รวมถึงผีตาโขนที่มีความเชื่อกันว่าเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่สืบทอดมาแต่โบราณ ว่างานบุญผีตาโขนนี้เป็นส่วนหนึ่งของ "งานบุญหลวง" ที่ถือว่าเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของท้องถิ่นที่รวมเอางานบุญพระเวส (ฮีตเดือนสี่) และงานบุญบั้งไฟ (ฮีตเดือนหก) ให้เป็นงานบุญเดียวกัน โดยงานบุญพระเวสมีวัตถุประสงค์จัดเพื่อให้ฟังเทศน์มหาชาติ ส่วนงานบุญบั้งไฟนั้นเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อถวายบูชาเทวาอารักษ์รักษาเมือง ขอให้ฝนตกตามฤดูกาล ซึ่งผีตาโขนจะเป็นผู้ออกมาสร้างสีสันและความครื้นเครงในขบวนแห่ ส่วนชื่อของผีตาโขนนั้นเล่าต่อกันมาว่าน่าจะมาจากการสวมหน้ากากคล้ายหัวโขน หรือบางคนเรียกเป็นผีตาขน ผีตามคน และเพี้ยนเป็นผีตาโขนในที่สุด นอกจากส่วนที่จัดแสดงประวัติวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ แล้วภายในพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงหุ่นผีตาโขนที่มีรูปร่างหน้าตาที่แตกต่างกัน และมี 2 ประเภทคือ ผีตาโขนใหญ่ผู้ชายและผู้หญิง จะไม่มีการทำใหม่ทุกปี แต่จะทำตามธรรมเนียมที่กำหนดไว้เท่านั้น และผีตาโขนเล็กที่เราพบเห็นกันทุกปี นอกจากนี้ยังมีการสาธิตการทำหน้ากากผีตาโขนที่มีส่วนประกอบดังนี้ -หัวของผีตาโขน ทำจากหวดนึ่งข้าวเหนียวมาหักพับขึ้นให้มีลักษณะคล้ายหมวก -หน้าทำจากโคนก้านมะพร้าวถากเป็นรูปหน้ากาก เย็บต่อกับส่วนหัว แล้วเจาะช่องตา -จมูกทำจากไม้เนื้ออ่อนแกะสลักเป็นรูปร่างต่าง ๆ คล้ายกับจมูกคน ปัจจุบันนิยมทำยาวเป็นงวงช้าง -เขาทำจากปลีมะพร้าวแห้งมาตัดให้ได้ขนาดที่ต้องการแล้วติดที่ข้างหวด -การตกแต่งลวดลายเมื่อก่อนนิยมใช้สีธรรมชาติ เช่น ปูนขาว ปูนแดง ขี้เถ้า ขมิ้น เขม่าไฟ ปัจจุบันนิยมสีน้ำมันเพราะสะดวกและมีสีสันสดใส จากนั้นจะนำเศษผ้ามาเย็บต่อกับหวดและหน้ากากให้ผ้าคลุมมิดไหล่ สำเร็จเสร็จกลายเป็นหุ่นผีตาโขนในที่สุด สำหรับท่านที่ต้องการมีของที่ระลึกของฝากที่เกี่ยวกับผีตาโขนล่ะก็บนพิพิธภัณฑ์ก็มีร้านจำหน่ายของที่ระลึกไว้บริการทุกท่านด้วย การเดินทาง จากที่ว่าการอำเภอด่านซ้ายเดินทางมาตามเส้นทางหลวงหมายเลข 2114 ผ่าน สภอ.ด่านซ้าย และตลาดด่านซ้าย เลยสะพานข้ามไปเล็กน้อยจะเห็นวัดโพนชัยอยู่ทางซ้ายมือ พิพิธภัณฑ์ผีตาโขนอยู่ภายในวัด