ถ้าหากจะให้พูดถึงอาหารใต้ สิ่งหนึ่งที่ทุกคนคงจะนึกถึงขึ้นมาเป็นอันดับแรกนั่นคือ รสชาติที่มีความจัดจ้าน เผ็ดร้อน ซึ่งถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของอาหารใต้ อีกทั้งเครื่องแกงที่อัดแน่นเต็มไปด้วยสมุนไพรนานาชนิด
อาหารภาคใต้มีรสชาติโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ก็เป็นเพราะสืบเนื่องจากพื้นที่ทางภาคใต้เคยเป็นศูนย์กลางในการเดินเรือเพื่อใช้ค้าขายของพ่อค้าจากอินเดีย จีน และชวาในอดีต ทำให้ร่องรอยทางวัฒนธรรมของชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวอินเดียใต้ ซึ่งเป็นต้นตำรับในการใช้เครื่องเทศปรุงอาหารยังคงหลงเหลือให้ได้เห็นกันในปัจจุบันที่สะท้อนออกมาในรูปของเมนูอาหารใต้มากมาย
ความหลากหลายในเมนูอาหารทางใต้ที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวอินเดียใต้ ทำให้มีตำรับอาหารใหม่มากมาย ที่ล้วนผ่านกรรมวิธีการดัดแปลง ปรับปรุงเป็นวัฒนธรรมอาหารการกินที่เป็นเอกลักษณ์โดยถ่ายทอดมารุ่นสู่รุ่น สีของอาหารนั้นส่วนใหญ่จะเป็นสีเหลืองจากสมุนไพรเครื่องเทศอย่าง ขมิ้น รสชาติเค็มมาจากกะปิ นอกจากนี้ยังมีผักสารพัดชนิดที่เรียกว่า ผักเหนาะ ซึ่งเป็นพืชพื้นบ้านที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น เช่น สะตอ ลูกเหนียง ยอดกระถิน นำมาทานร่วมกันเพื่อที่จะตัดรสเผ็ดของอาหารซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรอีกด้วย เนื้อสัตว์ที่นำมาปรุงเป็นอาหารส่วนมากนิยมสัตว์ทะเล เช่น ปลากระบอก ปลาทู ปูทะเล กุ้งหอย ซึ่งหาได้ในท้องถิ่น ตัวอย่างเมนูที่ยอดนิยมก็อย่างเช่น
- สะตอผัดกะปิกุ้งสด เมนูอาหารใต้ที่มีรสชาติจัดจ้านกลมกล่อม และมีกลิ่นของกะปิ และสะตอที่เป็นผักพื้นบ้านค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ หารับประทานได้ง่าย นิยมใส่หมูหรือกุ้งลงไปเพื่อให้ได้รับโปรตีนมากขึ้น
- ต้มกะทิใบเหลียงสายบัวกุ้งสด ใบเหลียงถือเป็นผักพื้นบ้านอีกชนิดที่นิยมนำมาทำอาหารนอกจากจะนำไปผัดได้แล้วยังสามารถนำมาใส่แกงได้ โดยความหอมของกะทิ รวมกับความสดชื่นจากใบเหลียง เพิ่มเนื้อสัมผัสด้วยสายบัวและเนื้อกุ้ง รสชาติหอมมันกลมกล่อมลงตัว
- แกงเหลืองปลายอดมะพร้าวอ่อน ใช้พริกแกงส้มที่มีส่วนผสมของขมิ้น ทำให้แกงมีสีเหลือง เพิ่มคุณค่าทางโปรตีนด้วยกุ้ง หรือปลาสด ซึ่งนิยมเป็น ปลากระพง, ปลานิล, ปลากระบอก, ปลาดุก ฯลฯ รสชาติจัดจ้าน
- แกงคั่วหอยแครงใส่ใบชะพลู เป็นแกงที่นำหัวกะทิคั้นสดมาคั่วกับพริกแกง รสชาติที่ได้จะออกเค็มมัน และหวานหอมจากตัวกะทิ กลมกล่อมถึงเครื่องถึงรสของเครื่องพริกแกง ซึ่งในใบชะพลูนอกจากความหอมแล้วยังมีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย
- ขนมหัวล้าน ทำจากแป้งข้าวเหนียว ห่อไส้ที่ทำมาจากถั่วเขียวนึ่งบด นำมากวนกับมะพร้าวขูดและน้ำตาล ปั้นเป็นรูปกลม นำไปนึ่งให้สุก ราดด้วยกะทิ แต่ถ้านำไปทอดจะเรียกขนมหัวล้านทอด
- ขนมลูกโดน มีลักษณะเป็นแผ่นกลมบาง ๆ สีเหลืองปนน้ำตาล มีรูปร่างเป็นรอยบุ๋มตามแบบพิมพ์ ม้วนเป็นรูปกลมยาว นิยมรับประทานคู่กับมะพร้าวคลุกเกลือ รสชาติ หวาน มัน และเค็มเล็กน้อย
- หัวครกราดน้ำผึ้ง หัวครกหรือเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่นำมาแกะ แช่น้ำเกลือ ล้างอย่างสะอาดทุกกรรมวิธี จากนั้นเคี่ยวน้ำตาลปี๊บให้หอมนำมาราดบนตัวถั่วรอจนน้ำตาลแห้งจะเกาะอยู่กับผิวของเม็ดมะม่วงหิมพานต์
เมนูที่ยกตัวอย่างมาดังกล่าวสามารถที่จะหารับประทานได้ทั่วไปตามท้องถิ่นในจังหวัดแถบภาคใต้ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดกระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี และยังมีเมนูอีกมากมายให้ได้ลองไปชิม ไปกินกัน ที่มีความอร่อยและรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์สมความเป็นภาคใต้